เปิดปม : ติดหล่มหนี้ในระบบ

1 พ.ค. 62
16:24
906
Logo Thai PBS
เปิดปม : ติดหล่มหนี้ในระบบ
ชะตากรรมของลูกหนี้ในระบบ หลายคนเป็นข้าราชการตกอยู่ในภาวะหนี้สินรุมเร้าแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

ข้าราชการสาธารณสุขกว่า 250 คนประสบปัญหาหนี้สินรุมเร้า และถูกหยิบยกมาเป็นเป็นกลุ่มนำร่องเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้ ที่สำคัญในจำนวน 250 คน มี 57 คนที่อยู่ในภาวะการเงินขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เพราะภาระหนี้เกิน 100 - 300 เท่าของเงินเดือน มูลหนี้รวมกันกว่า 314 ล้านบาท เฉพาะข้อมูลหนี้ของข้าราชการสาธารณสุขหนึ่งใน 57 คนที่อยู่ในภาวะการเงินขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงพบว่า มีมูลหนี้รวมเกือบ 7 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดหนี้กับสถาบันการเงิน 7 แห่ง , กองทุนหมู่บ้าน , หนี้เงินกู้นอกระบบ , ไฟแนนซ์ และบริษัทสินเชื่อเอกชน สินเชื่อหลายแห่งอยู่ในสถานะค้างจ่าย บางแห่งปิดยอดหนี้แล้ว บางแห่งอยู่ระหว่างเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และกำลังถูกบริษัทไฟแนนซ์ฟ้องร้องเพื่อดำเนินการบังคับคดี

 

 

ตารางภาระยอดหนี้ของข้าราชการสาธารณสุขคนหนึ่งแสดงให้เห็นข้อมูลการกู้ยืมเงินจากการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินในระบบหลายแห่ง กระทั่งประสบปัญหาการเงินขาดสภาพคล่อง จนเข้าสู่วังวนหนี้นอกระบบในที่สุด (ภาพ 1)

โรงพยาบาลหนองฉาง จ.อุทัยธานี มีข้าราชการสาธารณสุขหลายคนที่อยู่ในกลุ่มลูกหนี้ภาวะวิกฤติ หนึ่งในนั้นเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ที่มีภาระหนี้รวม 8 สถาบันการเงิน และมีหนี้เงินกู้นอกระบบ รวมทั้งหมดเกือบ 7 ล้านบาท แต่ละเดือน เธอต้องหาเงินผ่อนชำระเงินกู้ประมาณ 60,000 บาท ทั้งที่มีเงินเดือนประจำประมาณ 30,000 กว่าบาท

เธอเล่าว่า การเป็นหนี้เริ่มต้นเมื่อมีสถาบันการเงินต่าง ๆ เสนอโครงการปล่อยสินเชื่อสำหรับข้าราชการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แม้ที่ผ่านมาจะกู้เงินอเนกประสงค์กับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุข จ.อุทัยธานี อยู่แล้ว แต่ได้ลองส่งเอกสารขอสินเชื่อไปให้สถาบันการเงินพิจารณาและผ่านการประเมินความสามารถในการผ่อนชำระ ส่วนสาเหตุที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เธอบอกว่า น่าจะเกิดจากนโยบายของกรมบัญชีกลางที่ให้ข้าราชการนำเงินไปผ่อนชำระหนี้กับสถาบันการเงินเองโดยไม่ตัดจากบัญชีเงินเดือน ประกอบกับขาดวินัยทางการเงิน จึงเกิดปัญหาตามมา

ตอนนั้นแบงค์ที่เรายื่นกู้เขาเห็นศักยภาพในการผ่อนชำระ อย่างไรก็หักยอดหนี้ได้ทุกเดือน พอมา 2 ปีหลัง ต้องนำเงินสดไปชำระเอง พอระหว่างทางมีเรื่องใช้เงินสำคัญกว่าเราเลยเอาเงินไปใช้ตรงนั้นก่อน เงินเลยไม่ถึงธนาคาร เป็นปัญหามานับแต่นั้น

นพ.ประเสริฐ มงคลศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองฉาง บอกว่า การไม่มีวินัยทางการเงินเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหนี้สินและขาดสภาพคล่อง ขณะนี้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแห่งนี้หลายคนมีปัญหาทางการเงินจากปัญหาเงินกู้ในระบบ เมื่อไม่สามารถกู้เงินในระบบได้อีกต่อไป จึงต้องเข้าสู่วังวนเงินกู้นอกระบบในที่สุด

 

 

เบื้องต้น ทางโรงพยาบาลหนองฉาง แก้ปัญหาด้วยการเข้มงวดในการออกเอกสารอนุมติใบรับรองเงินเดือนเพื่อป้องกันการนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินในระบบ แต่ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามไปยังสถาบันการเงินต่าง ๆ ถึงความเหมาะสมของมาตรการปล่อยสินเชื่อ แม้ผู้กู้จะมีภาระหนี้สินรวมมากกว่ารายได้ต่อเดือนอยู่ก่อนแล้ว จนเกิดปัญหาหนี้สินรุมเร้า และภาวะวิกฤตอย่างที่เกิดขึ้นกับข้าราชการสาธารณสุขส่วนหนึ่ง 

 

 

เนื่องจาก ข้าราชการสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี ยินยอมเปิดเผยข้อมูลสถานะยอดหนี้ ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มนำร่องในการแก้ปัญหานี้ โดยมีมูลนิธิสุภา วงศ์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ เข้าประเมินปัญหาหนี้สิน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้กู้มีความสามารถชำระหนี้รายเดือนกับสถาบันการเงินต่าง ๆ และยังเหลือเงินยังชีพได้ โดยแบ่งเป็นแบบชำระหนี้เต็มที่จะเหลือเงินยังชีพประมาณเดือนละ 10,000 บาท , แบบชำระหนี้ร้อยละ 50 ของรายได้ จะเหลือเงินยังชีพครึ่งหนึ่ง และแบบชำระหนี้ที่มีเงินเหลือยังชีพเดือนละ 20,000 บาท

ขณะนี้ มูลนิธิฯ อยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อชะลอการฟ้องร้องบังคับคดี ขยายเวลาชำระหนี้ หรือ ลดอัตราดอกเบี้ยคงค้าง และหารือแนวทางช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ในภาวะวิกฤต โดยมูลนิธิฯ รับมอบอำนาจเพื่อร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจรจาปัญหาหนี้ในระบบ

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง