“ผมมีความสุขมาก ที่ไม่ต้องใช้ยาเสพติดอีกแล้ว”

ภูมิภาค
11 พ.ค. 62
10:26
17,126
Logo Thai PBS
“ผมมีความสุขมาก ที่ไม่ต้องใช้ยาเสพติดอีกแล้ว”
หนุ่มวัย 35 ปี บอกเล่าความทุกข์ที่เข้าไปอยู่วังวนยาเสพติดนานกว่า 20 ปี ทุกวันนี้เขาเลิกยาได้แล้วและอาสาเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันให้กลับมามีชีวิตใหม่

“ผมเข้ามาบำบัดเป็นครั้งที่ 3 แล้ว” หนุ่มวัย 35 ปี เล่าถึงความยากลำบากในการเลิกใช้ยาเสพติด สิ่งสำคัญที่สุดคือ จิตใจที่เข้มแข็ง

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาเข้าไปอยู่ในวงวนของยาเสพติด เพราะอยากลองตามคำชักชวนของเพื่อน เริ่มตั้งแต่ใช้สี่คูณร้อย กระท่อม จนถึงผงขาว กระทบความสัมพันธ์ในครอบครัว กลายเป็นคนก้าวร้าว ไม่ฟังคนอื่น มักเก็บตัวในห้องคนเดียว หรือสุงสิงเฉพาะกลุ่มเพื่อนที่ใช้ยาเสพติดด้วยกันเท่านั้น

กระทั่งตัดสินใจเข้ามาบำบัดยาเสพติดครั้งแรก นาน 4 เดือน ผ่านความยากลำบากถึงขั้นถูกล่ามโซ่ จนมั่นใจว่าตัวเองเลิกยาได้จึงกลับเข้าไปอยู่ในชุมชน แต่จิตใจไม่แข็งพอและถูกเพื่อนชักชวนกลับไปเสพซ้ำ

ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่เขาเข้ามาบำบัดยาเสพติด ที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี ด้วยความหวังจะกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง พร้อมบอกว่า “รอบนี้ผมตั้งใจจริง ๆ อยากจะเอาชนะยาเสพติดให้ได้”

 

ไม่อยากมีชะตากรรมเดียวกับเพื่อน

ช่วงแรกของการถอนพิษยา ผมไม่อยากจะเลิกเพราะยังมีฤทธิ์ของยาเสพติดอยู่ กระทั่งผ่านไป 1 สัปดาห์ สมองผมไม่มีฤทธิ์ยาแล้ว ความคิดก็เปลี่ยนไป ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล ที่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น จนสามารถพูดคุยและทำกิจกรรม หรือไปเที่ยวกับครอบครัว ได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป

ผมอยู่ที่โรงพยาบาลนานกว่า 10 เดือนแล้ว มุ่งมั่นที่จะสร้างจิตใจให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถปฏิเสธยาเสพติดได้ ล่าสุดคนในชุมชนให้การยอมรับ ชื่นชมว่าเก่งและแข็งแรงขึ้นมาก

ผมลากลับบ้านแล้ว 6 ครั้ง พบว่าเพื่อนบางคนเสียชีวิต บางคนติดคุก บางคนป่วยจิตเวช ถ้าผมไม่เข้ามาบำบัดก็คงมีชะตากรรมไม่ต่างกัน

จาก "ผู้ติด" สู่พี่เลี้ยงแคมป์ 35

เมื่ออาการดีขึ้นแล้วเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือผู้ที่หลงผิดใช้ยาเสพติด จึงอาสาเป็นพี่เลี้ยงในค่ายพักพิงเพื่อการบำบัด (แคมป์ 35) ทำหน้าที่ควบคุมกิจกรรม ควบคุมแถว ดูแลสมาชิกที่เข้าบำบัดทุกคนอย่างเท่าเทียม รวมทั้งเป็นคนนำเที่ยวตัวเมืองปัตตานีในวันเสาร์-อาทิตย์

ผมมีความสุขมาก ไปไหนมาไหนไม่ต้องใช้ยาเสพติด เป็นเหมือนคนทั่วไป อยากทำงานตรงนี้ ดูแลน้อง ๆ ทุกคน

ขณะที่ผู้บำบัดคนหนึ่งในแคมป์ 35 บอกว่า ตัดสินใจเข้ามาบำบัดยาเสพติด เพราะนึกถึงพ่อแม่และลูกของตัวเอง ที่ผ่านมามีแต่ทำให้พวกเขาเสียใจ หวังจะกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวโดยไม่ต้องพึ่งพายาเสพติด

ผมคิดว่าที่ติดยาและเล่นยาทุกวันนี้ได้อะไรขึ้นมา บ้านไหนที่มีลูกเล่นยา ไม่มีความสุขหรอก

 

 

“ทำด้วยใจ” ดึงเด็กพ้นยาเสพติด

เจะรอบียะห์ มะหนิ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ที่ร่วมดูแลผู้เข้ารับการบำบัดในแคมป์ 35 เล่าว่า ขั้นตอนที่ยากที่สุด คือการถอนพิษยา ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก มีความเสี่ยงเด็กหนีค่ายซึ่งชุมชนจะช่วยตามกลับมา พร้อมจัดเวรพยาบาลและครูปกครองดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ผู้เข้าบำบัดจะขอยาแก้ปวด หรือยานอนหลับ เพราะเขากังวลที่ต้องขาดยาเสพติด จะใช้วิธีการถอนพิษยาด้วยการออกกำลังกาย อาบน้ำบ่อย ๆ ให้คำปรึกษารายบุคคล และให้ผ่อนคลายความเครียด

เจะรอบียะห์ มะหนิ

เจะรอบียะห์ มะหนิ

เจะรอบียะห์ มะหนิ

เธอบอกด้วยว่า ภูมิใจที่ได้ดูแลให้เขากลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ เด็กที่ไม่เสพซ้ำจะร่วมกันตั้งชมรมดนตรี ฟุตบอล และการจัดกิจกรรมในพื้นที่ โดยดึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามามีส่วนร่วม เพราะเขามีศักยภาพเทียบเท่ามืออาชีพ ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีอยู่ระหว่างหางบประมาณสนับสนุนอุปกรณ์ดนตรีเพิ่มเติม พร้อมเสนอให้มีพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน เช่น ลานกีฬา

น้องในทีมทำงานด้วยใจ ไม่มีค่ารถ ดึกดื่นก็ดูความเรียบร้อย พี่ภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเขา และพยายามสร้างการรับรู้ในชุมชนว่ายาเสพติดสามารถบำบัดได้

“เทคแคร์ทีม” ลดเสี่ยงเสพซ้ำ

เศวต เพชรนุ้ย นายอำเภอโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ชุดปฏิบัติการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดประจำตำบล (เทคแคร์ทีม) โดยปลัดอำเภอเป็นหัวหน้าชุด ร่วมด้วยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา เป็นส่วนสำคัญของแคมป์ 35 เริ่มต้นค้นหาจากบัญชีรายชื่อผู้ที่เคยใช้ยาเสพติด ทั้งจากตำรวจ ฝ่ายปกครอง ประชาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านโดยการชี้เป้าทางลับ สำหรับ อ.โคกโพธิ์ มีผู้ค้ายาเสพติด 99 คน, ผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ติดยาเสพติด 502 คน ถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องร่วมกันดูแล

 

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือความไว้วางใจในพื้นที่ แต่ละสัปดาห์มีพ่อแม่ผู้ปกครองมาขอให้ช่วยนำลูกไปบำบัดยาเสพติด โดยเจ้าหน้าที่จำแนกผู้ใช้ ผู้เสพ ส่ง รพ.สต. ช่วยดูแลฟื้นฟู ส่วนผู้ติด 132 คน นำเข้าบำบัดในแคมป์ 35 โดยลงบันทึกประจำวัน และทำบันทึกข้อตกลงที่ สภ.ในท้องที่ ยืนยันว่าจะเข้าร่วมการบำบัด ส่วนช่วงที่ไม่ได้เปิดแคมป์ ให้ รพ.สต. ร่วมดูแลคู่ขนาน

เมื่อเปิดค่ายแล้วเกือบ 100% เข้าบำบัดฟื้นฟู เราไม่ทอดทิ้งเด็กพวกนี้และให้ความสำคัญกับเขา

 

ชุดเทคแคร์ทีมจะมาพบและทำความคุ้นเคยกับผู้เข้ารับการบำบัดตั้งแต่ช่วงอยู่ในแคมป์ 35 เพื่อลดความตึงเครียดและบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวให้คลายความกังวล ส่วนการติดตามหลังผ่านการบำบัด หากพบว่าไม่มีการใช้เสพติดซ้ำอย่างน้อย 4 ครั้ง ภายใน 3 เดือน จะเข้าสู่กระบวนการฝึกอาชีพโดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน

นอกจากนี้ ยังเชิญชวนมาทำกิจกรรมจิตอาสา เล่นฟุตบอลและร่วมแข่งขันกับอำเภอใกล้เคียง เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ป้องกันการหวนกลับไปเสพซ้ำ

กำลังใจจากคนรอบข้างและโอกาสจากสังคม เป็นส่วนสำคัญที่เปิดกว้างให้พวกเขาได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปัตตานีสร้างชีวิตใหม่ ดึงวัยรุ่นเลิกยาเสพติด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง