"นาซ่า" พบดวงจันทร์หดตัวลง 50 เมตรรอบร้อยล้านปี

Logo Thai PBS
"นาซ่า" พบดวงจันทร์หดตัวลง 50 เมตรรอบร้อยล้านปี
งานวิจัยล่าสุดชี้ว่า "ดวงจันทร์" ซึ่งเป็นดาวบริวารของโลกกำลังค่อยๆ หดตัวเล็กลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์จากภาพถ่าย 12,000 ภาพ พบรอยย่น และการขยับตัวบนพื้นผิวบนดวงจันทร์ ซึ่งคาดว่าจะมีขนาดเล็กลงไปแล้ว 50 เมตรในรอบหนึ่งร้อยล้านปี

วันนี้ (14 พ.ค.2562) รายงานฉบับใหม่ที่วิเคราะห์ภาพดวงจันทร์โดยยานสำรวจดวงจันทร์ (แอลอาร์โอ) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซ่า) ถ่ายไว้มากกว่า 12,000 ภาพ ระบุว่า เกิดรอยย่น และการขยับตัวของพื้นผิว บริเวณแอ่งน้ำบนดวงจันทร์ ที่ชื่อว่า Mare Frigoris หรือทะเลแห่งความหนาวเหน็บ ซึ่งอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือของดวงจันทร์ หนึ่งในแอ่งน้ำจำนวนมาก ที่สันนิษฐานว่าแห้งเหือดไปแล้ว

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการหดตัวจากภายใน และการสูญเสียความร้อนอย่างช้าๆ เนื่องจากดวงจันทร์ไม่มีพื้นผิวชั้นนอกเหมือน กับแผ่นเปลือกโลก ผลที่เกิดขึ้นคือรอยแยก และรอยย่นที่พบบริเวณผิวดาว ในลักษณะเดียวกันกับที่ผลองุ่นแห้ง และเหี่ยวย่นจนกลายเป็นลูกเกด

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ในช่วงหลายร้อยล้านปีที่ผ่านมา ดวงจันทร์มีขนาดเล็กลงประมาณ 50 เมตร ปรากฏการณ์นี้อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ได้ในอนาคต 

การค้นพบความเคลื่อนไหวบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นสิ่งที่น่าศึกษาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากปกติมีเพียงโลกเท่านั้นที่ยังพบความเคลื่อนไหวเช่นการเกิดแผ่นดินไหวอยู่  

จากมุมมองทางธรณีวิทยา ดวงจันทร์มีความแตกต่างจากโลก ตรงที่ว่าไม่มีแผ่นเปลือกโลก ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว แต่แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์จะเกิดขึ้น จากการที่ดวงจันทร์สูญเสียความร้อนไปอย่างช้าๆ นับตั้งแต่ที่มีการก่อตัวขึ้นเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน

อุณหภูมิดวงจันทร์ช่วยเผยโครงสร้างภายใน

ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page เผยแพร่ข้อมูลว่า นักวิทยาศาสตร์ทดลองค้นหาอุณหภูมิที่ชั้นรอยต่อระหว่างแกนกลาง และชั้นแมนเทิลของดวงจันทร์ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจโครงสร้างภายในของดวงจันทร์มากขึ้น

อะนันยา มัลลิท (Ananya Mallik) ผู้ช่วยศาสตร์ตราจารย์ด้านธรณีวิทยา อธิบายว่า “ขณะนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับบริเวณชั้นรอยต่อระหว่างแกนกลางกับแมนเทิล และอุณหภูมิบนพื้นผิวที่วัดโดยภารกิจอะพอลโล ช่วยให้เราศึกษาข้อมูลอุณหภูมิของดวงจันทร์ได้ ซึ่งหากเราทราบอุณหภูมินี้ ก็อาจกำหนดสถานะภายในของโครงสร้างและองค์ประกอบของดวงจันทร์ได้ ”

ดวงจันทร์มีแกนกลางเป็นเหล็กเหมือนกับโลก จากการวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากการเกิดแผ่นดินไหวก่อนหน้านี้ ทำให้พบว่าร้อยละ 5 - 30 ของส่วนประกอบของชั้นรอยต่อระหว่างแกนกลางและแมนเทิลอยู่ในสถานะของเหลวที่มีความหนืด

มัลลิททำการทดลองโดยนำวัตถุที่คล้ายกับหินของดวงจันทร์ ใส่เข้าไปในอุปกรณ์ที่ชื่อว่า “มัลติ-แอนวิล (Multi-anvil)” เพื่อเพิ่มความดันให้ถึงระดับ 45,000 เท่าของบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นแรงดันคาดการณ์ภายในดวงจันทร์ แล้วเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นจนวัตถุตัวอย่างละลายไปบางส่วน

เป้าหมายคือเพื่อให้วัตถุละลายร้อยละ 5-30 เสมือนสถานะของส่วนประกอบชั้นรอยต่อ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถกำหนดช่วงของอุณหภูมิได้แคบลง ซึ่งช่วงอุณหภูมินี้จะช่วยให้สามารถทำนาย และสร้างแบบจำลองโครงสร้างของดวงจันทร์ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงอาจสามารถระบุธาตุองค์ประกอบภายในของดวงจันทร์ได้ด้วย

การทราบองค์ประกอบของดวงจันทร์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อประมาณ 4.5 พันล้านปีก่อน ดวงจันทร์และโลกเคยเป็นดาวดวงเดียวกัน แต่เกิดการปะทะของวัตถุที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวอังคาร ทำให้เกิดเป็นดวงจันทร์และโลกดังเช่นปัจจุบัน ดังนั้นการทำความเข้าใจดวงจันทร์ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำความเข้าใจโลกเช่นกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง