อย.จ่อประกาศชื่อ "หมอ" สั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์

สังคม
17 พ.ค. 62
11:30
6,773
Logo Thai PBS
อย.จ่อประกาศชื่อ "หมอ" สั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์
องค์การเภสัชกรรม พร้อมสกัดน้ำมันกัญชาสำหรับหยดใต้ลิ้น ก.ค.นี้ ขณะที่ อย.ยืนยันไม่ขยายเวลาจดแจ้งครอบครองกัญชาทางการแพทย์ และประกาศรายชื่อแพทย์ที่สามารถสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ได้ภายใน 21 พ.ค.นี้

วันนี้ (17 พ.ค.2562) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จะไม่ขยายระยะเวลาการนิรโทษกรรมกัญชา เนื่องจาก อย. ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่กำหนดระยะเวลาไว้ 90 วัน ในการยื่นของนิรโทษกรรม หากจะขยายระยะเวลาต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งขณะนี้มีประชาชนมาขอรับการจดแจ้งครอบครองเพื่อนิรโทษกรรมมากกว่า 12,000 คน หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาในวันที่ 21 พ.ค.นี้ หากผู้ป่วยครอบครองกัญชาในปริมาณน้อยพอแก่การรักษาโรคก็สามารถชี้แจงได้

 

จ่อประกาศชื่อหมอจ่ายยากัญชา

นอกจากนี้ อย. อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อแพทย์ เภสัชกร ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์กับกรมการแพทย์ พร้อมทั้งเตรียมประกาศขึ้นทะเบียนว่า เป็นผู้สามารถสั่งจ่ายกัญชาทางแพทย์ภายในวันที่ 21 พ.ค.นี้ ผ่านเว็บไซต์ของ อย. สำหรับการประกาศจะบอกรายละเอียดว่าเป็นแพทย์คนใดและที่อยู่สถานพยาบาล ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และคลินิก โดยจะประสานไปยังสถานพยาบาล เนื่องจากการจะสั่งจ่ายทางสถานพยาบาลต้องมาขึ้นทะเบียนด้วย ส่วนแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านนั้น มีการอบรมเพื่อเป็นวิทยากรไปอบรมต่อ แต่บางส่วนสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้สั่งใช้ได้

 

 

อภ.พร้อมผลิตน้ำมันกัญชาล็อตแรก ก.ค.นี้

ขณะที่ความคืบหน้าในการผลิตกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้นกัญชามาตรฐานเกรดทางการแพทย์ ที่ปลูกไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา เจริญเติบโตเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดีและเริ่มออกดอกแล้ว ร้อยละ 98 เป็นตัวเมีย คาดว่า 10-12 สัปดาห์ หรือประมาณต้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะสามารถนำไปผลิตน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นได้ 2,500 ขวด ปริมาณขวดละ 5 ซีซี นอกจากนี้ จะนำกัญชาไปใช้วิจัยทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วยที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับกรมการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งขออนุญาตคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในคนเรียบร้อยแล้ว

 

 

ยันไม่ผูกขาด

ด้าน รศ.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านเพาะปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การนำกัญชามาทำเป็นยา ต้องเกิดมาตรฐานทั้งปริมาณสารสำคัญที่เหมาะสมเท่ากันทุกต้น จึงต้องดูแลควบคุมอย่างเข้มข้น ไม่ใช้สารเคมีเด็ดขาด ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาสายพันธุ์ไทยให้ควบคุมปริมาณสารสำคัญได้ พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้จะผูกขาด และมีเป้าหมายให้วิสาหกิจชุมชนมาร่วมทำอยู่แล้ว แต่ต้องมั่นใจและมีโมเดลชัดเจน เพราะกัญชาเป็นพืชอ่อนไหว สามารถดูดซับสารเคมีและโลหะหนักได้ง่ายมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง