ชาวเพชรบูรณ์จัดเวทีค้านเหมืองแร่ หลังอุตสาหกรรมจังหวัดไฟเขียวสำรวจ

สิ่งแวดล้อม
25 พ.ค. 62
20:18
2,083
Logo Thai PBS
ชาวเพชรบูรณ์จัดเวทีค้านเหมืองแร่ หลังอุตสาหกรรมจังหวัดไฟเขียวสำรวจ
ชาวเพชรบูรณ์จัดเวทีคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ หลังอุตสาหกรรมจังหวัดไฟเขียวบริษัทเหมืองขอสำรวจรอบพื้นที่แนวสายแร่รอบใหม่ กินพื้นที่เกือบ 20,000 ไร่ ด้าน ผู้ว่าฯเพชรบูรณ์สั่งอุตสาหกรรม จังหวัดชี้แจง 29 พ.ค.62

วันนี้ (25 พ.ค.62) ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ยังอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล และยังไม่แน่ชัดว่าใครจะเป็นผู้นำรัฐบาลแต่สำหรับนโยบายเหมืองแร่ทองคำ ที่เคยหยุดชะงักไปเพื่อรอการตัดสินใจจากรัฐบาลชุดใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559  และคำสั่ง ม.44  เมื่อ 13 ธ.ค.2559  มีผลห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาต และให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำระงับการประกอบกิจการตั้งแต่ 1 ม.ค.2560 เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร นั้น

 

 

ทำให้ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวจากประชาชนในหลายจังหวัดที่บริษัทเหมืองแร่เคยสำรวจพื้นที่คั่งค้าง ก่อนปี 2559 โดยเฉพาะที่ จ.เพชรบูรณ์ นอกจากกลุ่มประชาชนจะคัดค้านเหมืองแร่มาต่อเนื่องแล้ว

 

 

แต่วันนี้เวลา 13.00 น.ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนและหลายภาคฝ่ายได้รวมตัวกันที่มูลนิธิหนองไผ่ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ รวมถึงเครือข่าย เช่น นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์,  กลุ่มเครือข่ายโลกสีเขียวเพชรบูรณ์ นำโดยนายสมศักดิ์ คงวิเศษ และนายสุพล พูนพิพัฒน์ รวมถึงผู้นำชุมชนใน ต.หนองไผ่  และยังมีกลุ่มชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร นำโดย น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง มาร่วมด้วย เพื่อหารือความชัดเจนแนวทางที่จะรวมตัวคัดค้านเหมืองแร่ที่มีกระแสว่าจะเข้ามาสำรวจขุดเจาะในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ โดยที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านขอให้อุตสาหกรรมจังหวัดชี้แจงความชัดเจนว่า ได้อนุญาตให้บริษัทเหมืองแร่เข้าสำรวจรอบใหม่แล้วหรือไม่

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่เดิมการจัดเวทีวันนี้จะเน้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่เนื่องจากการประชุมผู้บริหารของ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้สอบถามประเด็นเหมืองแร่ที่มีกลุ่มชาวบ้านคัดค้านการสำรวจ แต่วันนั้นอุตสาหกรรมจังหวัดไม่ได้เข้าประชุมและไม่ได้ส่งตัวแทนชี้แจงทำให้ไม่ทราบความชัดเจนทางผู้ว่าฯ จึงสั่งให้ชี้แจงในวันที่ 29 พ.ค.นี้

 

 

การประชุมของกลุ่มชาวบ้านและเครือข่ายวันนี้จะทำหนังสือยื่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้อุตสาหกรรมจังหวัดเปิดเผยเรื่องนี้เช่นกัน เนื่องจากหลายคนกังวล เพราะไม่ทราบรายละเอียดการสำรวจหรือขุดเจาะพื้นที่รอบใหม่ แม้ที่ผ่านมาเคยขอให้เปิดเผยรายละเอียดแต่ก็ไม่มีความชัดเจน 

 

 

ท่ามกลางปัจจัย ใบอาชญาบัตร (สำรวจ) เดิม จะสิ้นสุดในต้นปี 2563 ซึ่งเป็นการสำรวจใน อ.ชนแดน และ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ทำให้กลุ่มชาวบ้านเปลี่ยนเป็นเวทียกระดับการต่อต้านการทำเหมืองแร่ ซึ่งจะคัดค้านตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจแร่  ซึ่งแต่เดิม ก่อนมี มติ.ครม.ปี 2559 เคยมีคำขอยื่นสำรวจแร่ จำนวน 37 แปลง รวมประมาณ 100,000 ไร่ แต่ขณะนี้ขอสำรวจ 4 แปลงที่ชาวบ้านคาดว่าจะเป็นเป้าหมายหลัก ซี่ง 2 แปลงแรก มีพื้นที่รวมประมาณ 8,000 ไร่  ครอบคลุม 3 ตำบลของ อ.หน่องไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ได้แก่ ต.หนองไผ่ ต.ยางงาม และ ต.นาเฉลียง และอีก 2  แปลง ครอบคลุมพื้นที่นับหมื่นไร่ ใน ต.ซับพุทธา อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์

นอกจากนี้มีประเด็นกลุ่มชาวบ้าน ยื่นศาลปกครองฟ้องร้องเกี่ยวกับการอนุญาตสำรวจแร่ในเขตป่าจากกรมป่าไม้ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น แม้เป็นการอ้างเพื่อการศึกษาวิจัย รวมถึงการถือครองหุ้นของบริษัทเหมืองแร่ ที่มีสัดส่วนผิดกฎหมาย

 

 

นางสุทธญาณ์ กุรินทร์ ชาวบ้าน ม.6 ต.นาเฉลียง อ.หน่องไผ่ จ.เพชรบูรณ์ หนึ่งในแกนนำ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดความสงสัยเพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีการประชุมสภาหมู่บ้านร่วมกัน และมีคะแนนเสียงเอกฉันท์  16 ต่อ 0 เสียง สรุปว่าไม่ต้องการเหมืองแร่ จึงสงสัยว่าการขอสำรวจหรือให้ใบอนุญาตได้อย่างไร ซี่งขณะนั้นชาวบ้านเคยร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน รวมถึงศาลปกครอง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

นอกจากนี้ การทำประชาคมเหมืองแร่ เมื่อปี 2558 ก็ไม่มีความจริงใจ เพราะไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าบอกเพียงว่า มีการประชุมเรื่องอื่นแต่เมื่อไปถึงเวทีประชาคม ชาวบ้านจึงทราบว่าเป็นเรื่องเหมืองแร่ซึ่งก็คัดค้านกันมาตลอด

 

 

ที่ผ่านบริษัทเหมืองแร่เคยขอยื่นสำรวจสายแร่ทองคำ แต่หลังจากมีมติ ครม. และ ม.44 เมื่อปี 2559 ที่ห้ามทำเหมืองทองคำ และให้หยุดนโยบายเหมืองแร่ทองคำ แต่หลังจากนั้นทราบว่ามีการยื่นขอสำรวจแร่ทองแดงแทน ซึ่งกลุ่มชาวบ้านคัดค้านเรื่องนี้กันจริงจังต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว มีการลงพื้นที่ไปเฝ้าติดตามการเข้าพื้นที่ของกลุ่มคนซึ่งมีชาวต่างชาติร่วมอยู่ด้วยในช่วงที่พวกเขาลงมาสำรวจและขุดเจาะ แต่เราก็ตามไปเฝ้า ยังเคยเห็นการนำอุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่มาลงในพื้นที่ แต่กลุ่มชาวบ้านก็ไม่ยอมให้ขุดเจาะ พวกเขาไปไหนทางชาวบ้านก็จะตามไปด้วยตลอด เวลาเขาเจาะไป ก็จะไปกันบนภูเขาใช้เครื่องเจาะเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เก็บตัวอย่างหน้าดิน

 

นอกจากนี้จะมีกลุ่มคนของเขาเข้าพื้นที่มาให้ข้อมูลโน้มน้าว ชวนให้เชื่อว่า ถ้ามีเหมืองแร่ก็จะมีความเจริญ มีถนนหนทางใหญ่โต ทำให้เชื่อว่าการทำเหมืองคือการพัฒนาความเจริญมาสู่ชุมชน แม้ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ยินยอมให้ขุดเจาะ แต่ทางนั้นก็จะอ้างว่าได้รับอนุญาตแล้ว แต่เมื่อถามหาใบอนุญาต กลับไม่แสดงให้ดูบอกว่าไม่นำติดตัวมาด้วย เป็นแบบนี้ตลอด

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง