ครม.ไฟเขียว "ซีพี" เดินหน้ารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

เศรษฐกิจ
29 พ.ค. 62
10:23
8,987
Logo Thai PBS
ครม.ไฟเขียว "ซีพี" เดินหน้ารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ทำโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดย รฟท.จ่ายเงินร่วมลงทุนปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี

เมื่อวานนี้ (28 พ.ค.2562) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติและเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา กับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม CPH ซึ่งเป็นเอกชนที่ได้รับคัดเลือกตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ.ได้เห็นชอบไว้ โดย ครม.เห็นชอบให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการนี้ วงเงิน 149,650 ล้านบาท ซึ่ง รฟท.จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการแก่เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี

 

 

หลังจากเริ่มการให้บริการโครงการโดยกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ได้ยื่นเสนอมูลค่าเงินที่รัฐร่วมลงทุน 149,650 ล้านบาท เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน หรือ เอ็นพีวี ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ที่ 119,425 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 2,198.88 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นเวลา 50 ปี และเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการ และอีก 50 ปีข้างหน้าโครงการจะกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ซึ่งคาดมูลค่าในขณะนั้นกว่า 300,000 ล้านบาท โดย รฟท.จะลงนามในสัญญากับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่ภาคเอกชนต้องจัดตั้งขึ้นมากลางเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปี 2567

 

 

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ครม.มีมติให้ รฟท.ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงินงบประมาณ 66,848.33 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 8 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562-2568 ซึ่งจากผลการศึกษาระบุว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะรองรับผู้โดยสารได้กว่า 3.8 ล้านคนต่อปี รองรับปริมาณสินค้าได้ 7 แสนตันต่อปี และเมื่อเปิดให้บริการจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจร้อยละ13 นอกจากนั้น คาดการณ์ว่าในปี 2599 จะขนผู้โดยสารได้ 8.3 ล้านคนต่อปี ขนสินค้าได้กว่า 1 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ รถไฟทางคู่สายนี้ถือเป็นรถไฟสายใหม่ที่เพิ่งอนุมัติให้ก่อสร้าง เป็นโครงการที่จะทำมานานกว่า 50 ปีแล้ว และได้ศึกษาเมื่อปี 2532 โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ค่าเวนคืนต่างๆ ขณะที่กระทรวงการคลังจะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ และ รฟท.เป็นผู้กู้เงิน จะมีพื้นที่เวนคืนปี 7,000 แปลง วงเงินเวนคืน 10,000 ล้านบาท

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง