เพื่อไทยร่วม 6 พรรค หนุน "ธนาธร" ชิงเก้าอี้นายกฯ

การเมือง
4 มิ.ย. 62
18:51
4,486
Logo Thai PBS
เพื่อไทยร่วม 6 พรรค หนุน "ธนาธร" ชิงเก้าอี้นายกฯ
พรรคเพื่อไทยมีมติไม่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคทั้ง 3 คน พร้อมแถลงมติ พรรคร่วมสนับสนุนชื่อผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเสนอนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

วันนี้ (4 มิ.ย.2562) นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตัวแทน 7 พรรคร่วม แถลงเกี่ยวกับมติพรรคในการเสนอชื่อผู้เข้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมอุดมการณ์ ลงมติเสนอชื่อ "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบในวันพรุ่งนี้

ขณะที่เลขาธิการพรรคเพื่อไทยชี้แจงกรณีไม่เสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามบัญชีของพรรค ด้วยเจตนาที่จะรักษาแนวร่วมทางการเมืองในนาม 7 พรรคไว้ ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ย้ำกับสื่อมวลชน กรณีไม่เสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ ตามบัญชีรายชื่อของพรรค ก็เพื่อรักษาแนวร่วม 7 พรรคการเมืองไว้ เพื่อเป็นพลังทางการเมืองต่อสู้กับกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในบ้านเมือง


ขณะที่จากการประชุมพรรคเพื่อไทยวันนี้มีรายงานถึงกรณีที่ไม่เสนอชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เพราะสมาชิกพรรค โดยเฉพาะ ส.ส. มีความเห็นต่างกันเกิดขึ้น และคุณหญิงสุดารัตน์ ก็ประกาศไม่ขอรับตำแหน่งไปแล้ว

ส่วนนายชัยเกษม และนายชัชชาติ แม้จะมีเสียงสนับสนุนอยู่บ้าง แต่หลายคนก็กังวลเรื่องคุณสมบัติ จึงวางตัวให้นายชัยเกษม เป็นผู้กำกับดูแลงานสภาฯ และนายชัชชาติ จะไปลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในเร็วๆ นี้

เตรียมอภิปรายซักฟอก "พล.อ.ประยุทธ์" นั่งนายกฯ

ทั้งนี้ ได้มีการวางบทบาทของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อลุกขึ้นอภิปราย ไม่เห็นด้วยกับผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันพรุ่งนี้ โดยประเด็นที่วางไว้จะเริ่มตั้งแต่ไล่เรียงตามสถานการณ์ ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่เปิดทางให้กองทัพยึดอำนาจ และตามด้วยการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล-คสช.ตลอด 5 ปีที่ล้มเหลวทุกด้าน โดยเฉพาะการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

จากนั้นจะเน้นการอภิปรายไปที่การวางโครงสร้างของประเทศผ่านรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตั้งแต่ความไม่ชอบธรรมในระบบการเมืองและการเลือกตั้ง การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วยคำถามพ่วงและบทเฉพาะกาล และแผนการปฏิรูปประเทศ


รวมไปถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากนั้นก็จะอภิปรายถึงการใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ถึงการเขียนรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ตลอดจนการอภิปรายถึงที่มาของพรรคพลังประชารัฐ การแฝงนัยของการสืบทอดอำนาจไว้ และการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาล-คสช.กับการเลือกตั้ง หรือการเอื้อประโยชน์การเมืองให้กับพรรคพลังประชารัฐ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง