น่าห่วง! 6 เดือน ยอดผู้ป่วย "ซิฟิลิส" พุ่ง 3,752 คน

สังคม
7 มิ.ย. 62
14:28
3,160
Logo Thai PBS
น่าห่วง! 6 เดือน ยอดผู้ป่วย "ซิฟิลิส" พุ่ง 3,752 คน
กรมควบคุมโรค พบยอดผู้ป่วยโรคซิฟิลิสพุ่ง 3,752 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี และกลุ่มอายุ 25 - 34 ปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยต่อเนื่อง ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

วันนี้ (7 มิ.ย.2562) สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 4 มิ.ย.2562 พบผู้ป่วยโรคซิฟิลิส 3,752 คน โรคหนองใน 3,940 คน แนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี และกลุ่มอายุ 25 - 34 ปี

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับกรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคหนองใน โรคซิฟิลิส อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนทุกคนมีความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ทำให้มีการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนทั่วไป 5 - 9 เท่า

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข


สำหรับการใช้ถุงยางอนามัย จะสามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มเยาวชนและวัยทำงาน โดยสนับสนุนถุงยางอนามัยให้หน่วยบริการสุขภาพทุกแห่ง ผ่านสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 เขต สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 จังหวัด และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง จัดทำแพ็คเกจถุงยางอนามัยให้มีความสะดวกใจในการพกพา ไม่เขินอาย แจกถุงยางอนามัยให้เยาวชนในช่วงการจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันสำคัญต่างๆ

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับเชื้อเอชไอวีกลุ่มนักเรียนในปี 2560 พบว่า วัยรุ่นมีแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นอายุเฉลี่ย 13-15 ปี และไม่ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกประมาณร้อยละ 30

เช็ก! อาการซิฟิลิสอันตรายแค่ไหน?

ซิฟิลิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Traponema pallidum มีระยะฟักตัว ประมาณ 10-90 วัน

  • ซิฟิลิส ระยะที่ 1 มีแผลที่อวัยวะเพศ มักเป็นแผลเดียว ขอบแผลนูนแข็ง ก้นแผลสะอาด แผลไม่เจ็บ แม้ไม่ได้รับการรักษาก็หายได้เอง

  • ซิฟิลิส ระยะที่ 2 มีผื่นขึ้นทั่วตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไม่เจ็บ ไม่คัน ผมร่วง คิ้วร่วง ฯลฯ อาการเหล่านี้จะหายได้เองแต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย ดังนั้น ถ้าตรวจเลือดจะพบว่า "เลือดบวก"

  • ซิฟิลิส ระยะแฝง ระยะนี้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้ ตรวจร่างกายทั่วไปพบว่าปกติ แต่ผลการตรวจเลือดให้ผลบวก

  • ซิฟิลิส ระยะหลัง เชื้อซิฟิลิส จะลุกลามไปที่อวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น หัวใจ เส้นเลือด สมอง กระดูก ผิวหนัง เยื่อบุ ตับ ม้าม ทำให้พิการและเสียชีวิตได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แพทย์เผยวัยรุ่น 15-24 ปี ป่วยโรคทางเพศสัมพันธ์มากสุด

สธ.เฝ้าระวังซิฟิลิสในวัยรุ่น

โลกโซเชียลแห่ให้ข้อมูล "ซิฟิลิส" ระบาด ไม่รีบรักษาอาจถึงตาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง