สั่งอาหารถึงบ้าน แถมขยะเดลิเวอรี่

สิ่งแวดล้อม
11 มิ.ย. 62
11:37
4,495
Logo Thai PBS
สั่งอาหารถึงบ้าน แถมขยะเดลิเวอรี่
หิวเมื่อไหร่ อยู่ที่ไหนก็สั่งได้ กับบริการเดลิเวอรี่อาหาร ซึ่งนับว่าเป็นบริการยอดนิยมสำหรับคนไทยในหลายพื้นที่ สิ่งที่ได้มานอกเหนือจากอาหารแสนอร่อยแล้ว ยังมีขยะเดลิเวอรีที่ส่งถึงที่อีกด้วย แล้ววันหนึ่งเราสร้างขยะจากอาหารเดลิเวอรีเท่าไหร่กันนะ

หิวเมื่อไหร่ อยู่ที่ไหนก็สั่งได้ กับบริการเดลิเวอรี่อาหาร ซึ่งนับว่าเป็นบริการยอดนิยมสำหรับคนไทยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เมือง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเดลิเวอรี่เริ่มเกิดขึ้นพร้อมแอปพลิเคชันสั่งอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีแอปพลิเคชันสำหรับสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่หลักๆ อย่าง Food panda, grab food, Get!, Line man, Lalafood และ Ginjaที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนหิวที่ไม่สะดวกออกไปซื้อด้วยตนเอง

เมื่อสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน 1 ครั้ง สำหรับ 1 เมนู ลองคิดว่าคุณสั่งก๋วยเตี๋ยวต้มยำหมูเด้งจากร้านดังสำหรับ 1 คน นอกจากก๋วยเตี๋ยวที่มาส่งถึงบ้านแล้ว คุณยังได้ขยะเดลิเวอรี่มาด้วยอย่างน้อย 5 ชิ้น ทั้งถุงพลาสติกใส่เส้น ถุงพลาสติกใส่น้ำซุป ถุงเครื่องปรุง ซองพลาสติกใส่ตะเกียบ และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหาร

หากวันหนึ่งมีคนสั่งก๋วยเตี๋ยวต้มยำหมูเด้งเจ้าดังจากแอปพลิเคชัน 6 แอปที่กล่าวมา วันละ 100 คน นั่นหมายความว่า เรากำลังสร้างขยะเดลิเวอรี่ถึงวันละ 3,000 ชิ้น หากคิดเป็น 1 สัปดาห์จะเท่ากับ 21,000 ชิ้น แล้วถ้าเป็น 1 เดือน จะเท่ากับ 90,000 ชิ้น ซึ่งเท่ากับว่าใน 1 ปี ประเทศไทยจะมีขยะเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,095,000 ชิ้น

 

ขณะที่แกร็บ ประเทศไทย (Grab) หนึ่งในผู้ให้บริการเดลิเวอรี่อาหาร ได้เปิดเผยว่า 4 เดือนแรก ในปี 2562 มียอดสั่งอาหารรวมแล้วทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านออร์เดอร์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ในปี 2561 ทั้งปี ที่มียอดการสั่งอาหารเพียง 3 ล้านออร์เดอร์

ลองคำนวณกันดูว่า หาก 1 ออร์เดอร์ สามารถสร้างขยะได้อย่างน้อย 5 ชิ้น หลังจากผ่านปีใหม่ 2562 มาเพียงแค่ 4 เดือน จากผู้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่เพียงเจ้าเดียว สามารถสร้างขยะเดลิเวอรี่ได้ถึง 20 ล้านชิ้นเลยทีเดียว

แล้วหากเป็นอาหารอย่างอื่น ขยะเดลิเวอรี่จะมีมากแค่ไหน?

ไทยพีบีเอสออนไลน์ทดลองสั่งอาหารญี่ปุ่นเดลิเวอรี่ สำหรับ 6 คน พบว่ามีขยะทั้งหมด 48 ชิ้น ประกอบด้วย ถ้วยกระดาษ 4 ชิ้น ฝาพลาสติกปิดถ้วย 4 ชิ้น ถ้วยพลาสติก 1 ชิ้น ถุงใส่ซอส 13 ชิ้น ถุงกระดาษ 1 ชิ้น กล่องกระดาษ 2 ชิ้น ซองใส่ถุงมือ 2 ชิ้น ถุงมือ 4 ชิ้น ช้อน 4 ชิ้น ส้อม 4 ชิ้น ซองพลาสติกใส่ช้อนส้อม 4 ชิ้น ตะเกียบ 1 ชิ้น ซองพลาสติกใส่ตะเกียบ 1 ชิ้น ถุงพลาสติกหูหิ้ว 3 ชิ้น

จากการสอบถามคนขับรถส่งอาหารพบว่า ส่วนตัวมีผู้สั่งอาหารประมาณวันละ 10 ครั้ง ส่วนใหญ่จะสั่งออเดอร์จำนวนมาก หากใน 10 ครั้ง เป็นการสั่งอาหารสำหรับ 6 คน จนเกิดขยะ 48 ชิ้น ในการบริการของคนขับรถส่งอาหารเพียง 1 คน จะสามารถเดลิเวอรี่ขยะได้ถึงวันละ 480 ชิ้น โดยยังไม่ได้นับรวมถึงขยะจากเครื่องดื่มเลยสักชิ้น 

 

แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะกลายเป็นขยะเดลิเวอรี่ ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามไปยังผู้ใช้บริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ พบว่า ร้านอาหารบางส่วนใส่อาหารในภาชนะอย่างถ้วยพลาสติกที่มีเนื้อแข็ง ทำให้สามารถนำมาล้างทำความสะอาดเพื่อนำมาใช้ใส่อาหารหรือสิ่งของซ้ำได้ 

ขณะที่บางส่วน ระบุว่า แม้ส่วนใหญ่ร้านอาหารจะใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องโฟม แต่ก็มีการลดขยะด้วยการไม่ให้ช้อน-ส้อมพลาสติก และมีการปรับภาชนะใส่อาหารโดยเพิ่มช่องใส่ข้าวและกับในกล่องเดียวกัน เพื่อลดกล่องพลาสติกลง นอกจากนี้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่ใส่อาหารทั้งหมดมาก็สามารถนำมาใช้ใส่ขยะอื่นๆ เพื่อแยกขยะตั้งแต่ต้นทางได้อีกด้วย

ถึงเราไม่ใช่คนส่งขยะ แต่เราปฏิเสธขยะได้

หลายคนอาจมองว่าขยะเดลิเวอรี่ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถจัดการอะไรได้ เพราะควรจะเป็นหน้าที่ของร้านอาหารหรือก็คือ ต้นทางของขยะมากกว่า ไทยพีบีเอสออนไลน์ลองพูดคุยกับ “นายธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อสอบถามถึงสถานการณ์ขยะเดลิเวอรี่ในไทย นายธารา ระบุว่า ในประเทศไทยเองอาจจะยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงขนาดระบุได้ว่ามีการสร้างขยะจากอาหารเดลิเวอรี่มากถึงปีละกี่ตัน แต่จากการเติบโตและความนิยมของธุรกิจเดลิเวอรี่ก็เป็นส่วนสำคัญที่เราทุกคนต้องคำนึงถึง

หากลองคิดว่าจะลดขยะด้วยการเลิกสั่งอาหารเดลิเวอรี่ก็คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะอาหารเดลิเวอรี่ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของเราไปแล้ว แต่ตัวเราเองสามารถลดขยะได้ จากการออเดอร์พิเศษว่างดรับช้อน-ส้อมพลาสติก ในเมื่อเราสั่งมากินที่บ้านหรือที่ทำงานที่ต้องมีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้วได้


นายธารา ย้ำว่า นอกจากการปฏิเสธตั้งแต่ต้นทาง สิ่งที่ต้องทำอีกอย่างสำหรับผู้บริโภค คือ การแยกขยะให้ถูกต้อง บางร้านอาหารใส่บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่ายแต่ผู้บริโภคไม่แยกขยะนำกล่องที่ทำจากชานอ้อยไปทิ้งรวมกันกับกล่องโฟมหรือถุงพลาสติก สุดท้ายความพยายามของเจ้าของร้านอาหารก็ไม่ได้ช่วยอะไรอยู่ดี

หากมองว่าเป็นปัญหามันก็จะเป็นปัญหาได้ แต่หากมองว่ามันเป็นโอกาส ก็อาจเป็นอีกช่องทางให้ผู้ประกอบการหรือร้านอาหารสามารถสร้างเอกลักษณ์หรือจุดขายได้ นายธารา ชวนไทยพีบีเอสออนไลน์คิดตาม เกี่ยวกับเคสของผู้ประกอบการชาวไต้หวันที่ขายชานมไข่มุกเดลิเวอรี่ โดยนำแนวคิดความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นจุดขาย

มีการทำแก้ว “FLOAT” ซึ่งเป็นแก้วที่มาจากกระบวนการรีไซเคิล และเป็นแก้วชาไข่มุกรีฟีลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พร้อมกับการคิดค้นแก้วด้านในที่มีตัวกรองอีกชั้นหนึ่งเพื่อรองรับให้ไข่มุกมากองรวมกันใกล้ๆ ปากแก้ว เพื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถดื่มชานมไข่มุกได้โดยไม่ต้องใช้หลอด เป็นการลดขยะหลอดพลาสติกอีกทางหนึ่ง และได้รับความสนใจบนโซเชียลอย่างมาก

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตลาดอาหาร Delivery โตถึง 3.5 หมื่นล้าน กังวลเพิ่มขยะจากบรรจุภัณฑ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง