ตลาดอาหาร Delivery โตถึง 3.5 หมื่นล้าน กังวลเพิ่มขยะจากบรรจุภัณฑ์

สิ่งแวดล้อม
11 มิ.ย. 62
10:57
4,015
Logo Thai PBS
ตลาดอาหาร Delivery โตถึง 3.5 หมื่นล้าน กังวลเพิ่มขยะจากบรรจุภัณฑ์
ตลาดอาหารส่งถึงบ้านหรือ Food Delivery เติบโตแบบฉุดไม่อยู่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ โตจากปี 2561 ถึง 41 เปอร์เซนต์ คาดทะลุถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปริมาณขยะก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เมื่อต้นปี 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เทรนด์การเติบโตของธุรกิจ Food Delivery ค่อนข้างสดใส ทำให้ตลาด Delivery อาหารที่เป็นเจ้าใหญ่มีมูลค่าสูงถึง 7,000-8,000 ล้านบาท มาจากปัจจัยของธุรกิจรับส่งอาหาร เช่น ฟู้ดแพนดา ไลน์แมน แกร๊บฟู้ด ลาล่ามูฟ อูเบอร์อีท และล่าสุดคือ เก็ทฟู้ด

ซึ่งธุรกิจรับส่งอาหารเหล่านี้ เข้ามาลดข้อจำกัดในการส่งอาหารให้กับธุรกิจร้านอาหารต่างๆ และเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่ายขึ้น และมากขึ้น ตามสไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ลดการเดินทาง ฯลฯ แต่ต้องการบริโภคอาหารอร่อยและมีคุณภาพ

นิตยสารฟอบส์ ฉบับภาษาไทย รายงานไว้ในบทความเรื่อง อาหารออนไลน์พุ่ง เติบโตพร้อมแทรนด์โมบาย เมื่อปี 2557 ตอนหนึ่งว่า ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการสั่งอาหารออนไลน์ของคนไทย ได้แก่ คุณภาพของอาหาร ร้อยละ 41 ความเร็วในการจัดส่ง ร้อยละ 20 และโปรโมชั่น ร้อยละ 18 ขณะที่กลุ่มลูกค้าอันดับแรกคือ 25-34 ปี มีสัดส่วน ร้อยละ 46 รองลงมา 18-25 ปี ร้อยละ 31

ขณะที่ความแตกต่างในการส่งอาหารของธุรกิจ Delivery มีตั้งแต่ผู้ส่งที่เป็นพนักงานของเชนสินค้าชนิดนั้น ไปจนถึงการส่งอาหารที่ลูกค้าสั่งซื้อจากร้านอาหารยอดนิยม ร้านอาหารข้างทาง โดยคิดค่าบริการตามระยะทาง เหมาจ่าย หรือไม่คิดค่าบริการ เพราะร้านอาหารเป็นผู้จ่ายแทนแต่ต้องสั่งในจำนวนมาก

ล่าสุด เดือน พ.ค.2562 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธุรกิจ Food Delivery ในปี 2562 จะมีมูลค่าสูงถึง 33,000-35,000 ล้านบาท หรือ เติบโตขึ้นร้อยละ 41 จากปี 2561 เนื่องจากความนิยมในการสั่งอาหารของผู้บริโภคในเมือง ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนในการขยายตลาดนี้ให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่สร้างความกังวลใจเกิดขึ้นก็คือ ธุรกิจ Food Delivery ส่งผลกระทบอย่างมาก จากขยะพลาสติกและโฟมที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากถุง ห่อใส่อาหาร ถุงเครื่องปรุง ซองใส่ช้อนตะเกียบ ซองซอสปรุงรสต่างๆ แก้วพลาสติก ขวดพลาสติก ซึ่งพลาสติกเหล่านี้ ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

แล้วเราจะช่วยกันแก้ปัญหาหรือลดปริมาณขยะจากการสั่งอาหาร Delivery ได้อย่างไร ขณะที่เรายังใช้บริการเช่นนี้

มีการตั้งสมมุติฐานขึ้นว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการอาหารให้ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ ในการบรรจุอาหาร หรือใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็นในการบรรจุอาหารเท่านั้น เพราะหากจะคาดหวังว่า จะแก้ปัญหาที่ปลายทางด้วยวิธีการกำจัดคงเป็นเรื่องยาก

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สั่งอาหารถึงบ้าน แถมขยะเดลิเวอรี่

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง