ปรับแผนใหม่! ฝึก "มาเรียม" หนีน้ำขึ้นน้ำลงหลังหลับเพลินเกยตื้น

สิ่งแวดล้อม
17 มิ.ย. 62
11:25
8,483
Logo Thai PBS
ปรับแผนใหม่! ฝึก "มาเรียม" หนีน้ำขึ้นน้ำลงหลังหลับเพลินเกยตื้น
หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง เตรียมปรับแผนดูแลมาเรียม ลูกพะยูน หลังเจอเกยตื้นหน้าอ่าว เหตุเป็นช่วงน้ำใหญ่ โดยจะให้ทดลองปรับพฤติกรรมให้เข้ากับธรรมชาติ เอาตัวรอดจากการเกยตื้น โดยมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวัง ออกระเบียบ 6 ข้อแก้คนมาดูเสียงดัง

วันนี้ (17 มิ.ย.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวว่า เมื่อเวลา 02.30 น. เจ้าหน้าที่เขตห้ามสัตว์ป่าเกาะลิบง และผู้นำท้องถิ่น สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง เจอมาเรียมเกยตื้นบริเวณอ่าวดูหยง และต้องนำไปปล่อยลงน้ำลึก เนื่องจากตอนนี้เป็นช่วงน้ำใหญ่ น้ำจะขึ้นและลงเร็วกว่าปกติ ทำให้มาเรียมไม่ทันตั้งตัวเกยตื้น

นายชัยพฤกษ์ กล่าวอีกว่า คณะทำงานต้องเฝ้าระวังมาเรียม ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากช่วงนี้น้ำจะขึ้น และลงเร็วกว่าปกติ จึงอาจทำให้พะยูนมาเรียม อาจเกยตื้นได้อีก และต้องเฝ้าระวังไปอีก 6 วัน โดยตั้งแต่ช่วงเวลาตี  1 ก็ต้องใช้เรือแคนูออกเฝ้าระวังไม่ห่างจากมาเรียม  

คืนนี้จะต้องวางแผนใหม่ โดยจะรอสังเกตพฤติกรรมของมาเรียม ว่าจะพาตัวเองให้ลงน้ำได้หรือไม่ ถ้าติดแห้งจริงๆ ถึงจะเข้าช่วยเหลือ ทั้งนี้เพื่อให้มาเรียมเรียนรู้ธรรมชาติ 

 

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

 

นายชัยพฤกษ์ กล่าวอีกว่า จากการสังเกตพบว่ามาเรียมมีพัฒนาการในการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติดีขึ้น เช่น จากการเกยตื้นรอบนี้ไม่เจอบาดแผลเพิ่ม ทั้งที่บริเวณที่เกยตื้นจะมีหิน และเปลือกหอยที่แหลมคม แสดงว่าเขาเอาตัวรอดไม่ให้ไปโดนหินบาดเป็นแผลเพิ่ม และเรียนรู้ที่จะหลบหลีกภัยได้บ้าง

ขณะเดียวกันในตอนพาไปกินหญ้าทะเลที่บางครั้งเจ้าหน้าที่ยังต้องคอยป้อนหญ้าให้กิน ก็จะคายออกบ้าง แต่ตอนนี้เริ่มกินหญ้าได้เองแล้ว  ส่วนแนวคิดที่จะทำบ่อพักอนุบาล เพื่อป้องกันภัยในช่วงมรสุม ตอนนี้ยังไม่สรุป เพราะยังมีความเห็นที่ไม่เห็นด้วยทั้งในทางวิชาการ และภูมิปัญาของชาวบ้าน 

ในช่วงมรสุม จะมีปัญหาเรื่องการป้อนนมให้กับมาเรียม เพราะคนป้อนและสัตวแพทย์ จะยืนลำบาก เพราะทะเลไม่นิ่ง รวมทั้งการเก็บหญ้าทะเล ในช่วงนี้เจ้าหน้าที่จะไม่พามาเรียมออกไปกินหญ้าทะเล แต่ต้องดำน้ำลึก 1-1.5 เมตรเก็บมาป้อนแทน เพราะคลื่นลมแรง 

ออกระเบียบ 6 ข้อแก้ปัญหารบกวนมาเรียม

หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางนักวิชาการ และกรมอุทยานฯ ทช.ได้ออกกฎระเบียบในการปฏิบัติงาน และการเข้ามาดูมาเรียมอย่างเคร่งครัด เพราะบางครั้งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นหมู่คณะ 10-20 คน และพบว่าส่งเสียงดัง อาจจะกระทบกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และตัวมาเรียมเอง  6 ข้อดังนี้

  • 1. จำกัดจำนวนคนที่เข้ามาหามาเรียมไม่เกิน 4 คนต่อครั้ง (รวมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่แล้ว)
  • 2. ห้ามใช้แฟลชในการถ่ายภาพน้องมาเรียม เนื่องจากอาจทำให้สัตว์เกิดความเครียดได้
  • 3. การถ่ายภาพน้องมาเรียมไม่อนุญาตให้ ถ่ายในท่าทางที่ผิดธรรมชาติของพะยูน หรือให้เจ้าหน้าที่อุ้มขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อถ่ายภาพ
  • 4. ปฏิบัติตามที่สัตวแพทย์ในพื้นที่ในช่วงเวลานั้นๆแนะนำเท่านั้น
  • 5. ผู้ที่สัตวแพทย์อนุญาตให้ลงปฏิบัติงานพร้อมกัน ต้องลงน้ำด้วยความสงบไม่ส่งเสียงดัง และไม่เดินเข้าทางด้านหน้าของน้องมาเรียม
  • 6.การถามคำถามกับเจ้าหน้าที่ ขอความกรุณาถามคำถามในช่วงเวลานอกเหนือจากการปฏิบัติงาน เพื่อให้ไม่เป็นการรบกวนเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง"มาเรียม" ตำราเล่มใหม่ "คนเลี้ยงพะยูน"

 

เร่งเพิ่มน้ำหนัก-ภาพรวมสุขภาพแข็งแรง

สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่บริเวณอ่าวดูหยงใกล้เขาบาตู หมู่ 4 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

เพื่อตรวจสุขภาพมาเรียม พร้อมเก็บตัวอย่างเลือด วัดขนาดและความยาวลำตัว พร้อมกับถ่ายภาพส่วนหาง ซึ่งจะมีอัตลักษณ์ประจำตัวของพะยูนแต่ละตัวเพื่อไว้เป็นฐานข้อมูล พร้อมกับการเพิ่มปริมาณนมและหญ้าทะเล และพาออกกำลังกายด้วยการให้ว่ายน้ำตามเรือแคนู

มาเรียมแข็งแรง ตัวแน่นสมบูรณ์ขึ้น แต่ความจริงจะต้องให้อาหารวันละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว หรือกินนมไม่ต่ำกว่าวันละ 3,000 มิลลิลิตร แต่ทำได้แค่ 2,500-2,700 มิลลิลิตร เพราะทีมสัตวแพทย์ไม่สามารถให้อาหารได้เต็มที่

เนื่องจากในเวลากลางคืนไม่สามารถป้อนอาหารให้ได้ เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ด้วย จึงจำเป็นจะต้องทำบ่ออนุบาลชั่วคราว สำหรับมาเรียมอยู่เป็นครั้งคราวในเวลากลางคืน และขณะป้อนอาหาร แต่ปล่อยออกสู่ธรรมชาติในเวลาปกติ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของหลายฝ่ายเพราะการดูแลจะต้องดูแลยาวนานอีกเป็นปี เพราะปกติพะยูนจะต้องกินนมแม่จนอายุ 1 ปี 8 เดือน-2 ปี จึงจะทิ้งนม และกินหญ้าทะเลอย่างเดียว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมแผนอนุบาลพะยูน "มาเรียม" ช่วงมรสุม

"หมอล็อต" นำทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานช่วยดูแล "มาเรียม"

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง