ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยเเพงจริง

เศรษฐกิจ
19 มิ.ย. 62
09:01
4,452
Logo Thai PBS
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยเเพงจริง
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยแพงกว่าประเทศในอาเซียนเป็นอีกประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งข้อมูลจากทีดีอาร์ไอ ระบุว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยแพง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำหรือค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่กรมการขนส่งทางรางยอมรับค่าโดยสารเเพงจริง

วันนี้ (19 มิ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กลายเป็นอีกประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากในช่วงอีก 5-6 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมทุกเส้นทางมากขึ้น อีกประการสำคัญคือกรุงเทพฯ ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่มีการจราจรติดขัดในอันดับต้นๆ ของโลก การเดินทางโดยรถไฟฟ้าสะดวกที่สุด ไม่ต้องเผชิญกับรถติด คุมเวลาการเดินทางได้ แต่ต้องแลกมากับค่าโดยสารแพง ขณะที่กรมขนส่งทางรางยอมรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงจริง พร้อมเตรียมปรับโครงสร้างค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบ

 

 

 

บัตรใบเดียวสะดวกและง่ายต่อการบริหารจัดการค่าโดยสาร

 

ทั้งนี้ หากผู้โดยสารรถไฟฟ้าถือบัตรโดยสารเพียงใบเดียวแล้วสามารถเดินทางได้กับรถไฟฟ้าทุกเส้นที่ให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเป็นเรื่องง่ายมากในการบริหารจัดการเรื่องค่าโดยสาร แต่ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการเดินรถหลายราย ซึ่งต่างมีบัตรโดยสารเป็นของตัวเอง อย่าง BTS มีบัตรแรบบิท, BEM มีบัตรเเมงมุม เเละบัตรโดยสาร หากต้องการเปลี่ยนเส้นทาง และต่างผู้ให้บริการก็ต้องเริ่มต้นซื้อตั๋วใหม่ หรือเรียกว่าต้องจ่ายค่าแรกเข้าใหม่ แทนที่จะจ่ายแบบต่อเนื่องตามระยะทาง

ยกตัวอย่าง เช่น หากเดินทางจากคลองบางไผ่ไปสถานีศาลาแดงจะต้องใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เปลี่ยนขบวนที่สถานีเตาปูนเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เสียค่าแรกเข้าครั้งเดียว 14 บาท เพราะเป็นผู้ให้บริการรายเดียวกัน ค่าโดยสารรวม 49 บาท แต่เมื่อเปลี่ยนระบบไปใช้บีทีเอสที่สถานีหมอชิต เพื่อลงที่สถานีศาลาแดง จะเสียค่าแรกเข้า 17 บาท ค่าโดยสาร 49 บาท รวมค่าโดยสารแล้วอยู่ที่ 93 บาท

 

 

 

ค่าครองชีพไม่สัมพันธ์กับค่าโดยสารรถไฟฟ้า

 

ดังนั้น ค่าเเรกเข้าจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการเดินทางรถไฟฟ้าของไทยมีอัตราที่สูง เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปรียบเทียบไว้น่าสนใจว่าค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ วันละกว่า 300 บาท หรือหากคิดเป็นรายชั่วโมง จะอยู่ที่ 37.50 บาท แต่ต้องจ่ายค่าโดยสาร 16-70 บาทขึ้นอยู่กับระยะทาง ขณะที่สิงคโปร์ มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 250 บาทต่อชั่วโมง แต่ค่าโดยสารแทบไม่ต่างจากไทย โดยสิงคโปร์จะจ่ายที่ 17-60 บาท

 

 

 

ส่วนเกาหลีใต้ ค่าเเรงอยู่ที่ 221 บาทต่อชั่วโมง ค่าโดยสารอยู่ที่ 37-96 บาท ส่วนประเทศที่มีค่ารถไฟฟ้าแพงที่สุด คือกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยราคาสูงสุดอยู่ที่สายเจอาร์ มีราคาถึง 3,132 เยน หรือประมาณ 913 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 279 บาทต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับราคาเริ่มต้นของรถไฟฟ้าแล้วก็ยังถือว่าถูกมาก เพราะค่าโดยสารเริ่มต้นเพียง 39 บาท

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง