ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา รับ-ไม่รับคำร้อง ส.ส.ถือหุ้นสื่อ

การเมือง
23 มิ.ย. 62
12:51
5,802
Logo Thai PBS
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา รับ-ไม่รับคำร้อง ส.ส.ถือหุ้นสื่อ
ในสัปดาห์นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณา-วินิจฉัยคำร้อง คุณสมบัติ ส.ส. กรณีถือหุ้นสื่อ 3 คำร้องหลัก คือคำร้องของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอีก 2 คำร้อง และกรณีพรรคอนาคตใหม่ ยื่นตรวจสอบการถือหุ้นของ 41 ส.ส. และพรรคพลังประชารัฐขอให้พิจารณา-วินิจฉัย จำหน่ายคดี

นอกจากความชัดเจนใน 3 คำร้องที่ว่านี้แล้ว ทีมทนายความของพรรคพลังประชารัฐ ยังเตรียมสรุปเรื่องและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมอีก คือกรณีขอให้พิจารณา-วินิจฉัย คุณสมบัติ ส.ส.ของ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน รวมราวๆ 30 คน

หากประมวลทุกคำร้อง จะเห็นถึงข้อวินิจฉัยหลักของศาลรัฐธรรมนูญ คือการชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติ ส.ส.รวมแล้วมากกว่า 70 คน ว่ามีลักษณะต้องห้าม เหตุจากถือหุ้นสื่อหรือไม่ และจะสืบเนื่องให้สิ้นสุดในสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.หรือไม่

เรียกได้ว่า สถานการณ์การเมืองตอนนี้อยู่ในช่วงชิงไหวชิงพริบ มีการเดินเกมต่อสู้ทางการเมือง ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ด้วยการงัดข้อกฎหมายและอ้างอิงเหตุตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยหยิบยกเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. มายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณา-วินิจฉัย สมาชิกภาพความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงหรือไม่

พรรคอนาคตใหม่ยื่นขอศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา-วินิจฉัย สมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ของ 41 ส.ส.ใน 6 พรรคร่วมรัฐบาลว่าจะสิ้นสุดลง ด้วยกรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) กำหนด ข้อต้องห้ามในการสมัครลงรับเลือกตั้ง คือการเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ

ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้ นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมทนายความ พรรคพลังประชารัฐ เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่นกันโดยขอให้พิจารณาวินิจฉัย ส.ส. 30 คนในฝ่ายค้าน รวม 7 พรรคการเมือง ด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน โดยอาจจะยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และยื่นตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561

มาตรา 7 ที่บัญญัติไว้ว่า ให้ศาลฯมีหน้าที่และอํานาจพิจารณาวินิจฉัยคดี ซึ่ง (5) กำหนดไว้ว่าเป็นคดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส.หรือ ส.ว. หลังเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายทศพลได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ 27 ส.ส. พรรคพลังประชารัฐไปแล้ว

มีรายงานว่าคำร้องของพรรคพลังประชารัฐ อ้างอิงถึงนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หรือในฐานะแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพราะมีชื่อปรากฏในข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการของบริษัท ชินดิเคท แอ็ดเวอร์ไทชิ่ง จำกัด ที่มีวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการ คือ รับจัดทำโฆษณาทางโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ รวมถึงหนังสือ นิตยสาร วิทยุ ในการออกแบบและทำป้ายโฆษณา

นายทศพลยืนยันที่จะยื่นก่อนวันนี้ เพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน กับคำร้องอื่น คือการขอขยายเวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือหุ้น บ.วีลัคมีเดีย, คำร้องของพรรคอนาคตใหม่ ที่ยื่นให้ตรวจสอบคุณสมบัติ 41 ส.ส. และคำร้องพรรคพลังประชารัฐ ขอให้พิจารณาสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวของ 27 ส.ส

หากรวมทุกคำร้องก็จะมี ส.ส.กว่า 70 คนที่ศาลฯจะพิจารณาวินิจฉัย จากจำนวนสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ซึ่งแน่นอนหากศาลรับคำร้องและสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว อาจจะกระทบเสถียรภาพในสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อย

ตามการคาดการณ์ของฝ่ายการเมือง เชื่อว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะได้ข้อสรุปในทุกคำร้องในวันเดียวกัน ในวันพุธที่ 26 มิ.ย.แต่ก็ถูกจับตาและตั้งคำถามถึงมาตรฐานการพิจารณาเพราะนอกจากคำร้องในข้อกล่าวหาเดียวกันแล้ว ยังมีบรรทัดฐานที่ กกต.เคยวินิจฉัยไว้ด้วย และศาลรัฐธรรมนูญน่าจะทำให้ข้อสงสัยนี้หมดไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง