ทช.จ่อไลฟ์เกาะติดชีวิต “มาเรียม”พะยูนน้อย

สิ่งแวดล้อม
26 มิ.ย. 62
10:58
3,543
Logo Thai PBS
ทช.จ่อไลฟ์เกาะติดชีวิต “มาเรียม”พะยูนน้อย
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)ลงพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เตรียมวางมาตรการระยะยาวดูแลมาเรียม พะยูนน้อยร่วมกับท้องถิ่น เล็งให้คนมีโอกาสเรียนรู้พฤติกรรมผ่านการดูแลของคนครั้งแรกของโลกผ่านเฟซบุ๊ก คาดวางระบบเสร็จต้นเดือนก.ค.นี้

วันนี้ (26 มิ.ย.2562) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.) เตรียมลงพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง เพื่อหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่น และเครือข่ายพิทักษ์ดุหยง ในการวางมาตรการดูแลมาเรียม ลูกพะยูนที่ทางสัตวแพทย์ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ร่วมกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และอาสาสมัครอนุบาลในพื้นที่ธรรมชาติมาเกือน 2 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์พะยูน สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ เนื่องจากจะต้องดูแลมาเรียมต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปีก่อนจะเลิกนมและปล่อยให้ใช้ชีวิตตามลำพังได้

นายจตุพร กล่าวอีกว่า เนื่องจากความน่ารักของมาเรียม พะยูนน้อยที่กลายเป็นขวัญใจของคนทั้งประเทศ และถือเป็นการปลุกให้เกิดการอนุรักษ์หวงแหนพะยูนในวงกว้าง มีคนจำนวนมากอยากรู้จักมาเรียมในฐานะทูตแห่งเกาะลิบง

 

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันเกียวกับการดูแลพะยูนที่เป็นตำราใหม่ ทางทช.จึงเตรียมติดกล้องวงจรปิด (CCTV)บริเวณพื้นที่เขาบาตู ที่ใช้ป้อนนมดูและมาเรียมของทีมสัตวแพทย์ ซึ่งจะเชิญตัวแทนจากบริษัททีโอที ลงพื้นที่ตรวจสอบสัญญาณต่าง และดูว่าจะต้องติดกี่จุด

การติดตั้งวงจรปิด ครั้งนี้จะถ่ายทอดสัญญาณผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของทช.ตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนกับเต่ามะเฟือง ซึ่งแง่ดีจะช่วยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ทั้งกับมาเรียม และอีกมุมคือคนทั่วโลกจะเห็นมาเรียม ซึ่งวางแผนว่าแม้แต่หมอป้อนนม สอนกินหญ้า พายเรือแม่ส้มออกไปสอนว่ายน้ำ ก็จะไลฟ์ชีวิตให้เห็นทั้งหมด เป็นการเรียนรู้ชีวิตสัตว์ทะเลหายากที่ไม่เคยมีใครเห็นใกล้ชิดมาก่อน

ทั้งนี้เชื่อว่าจะได้ผลในเชิงบวกในด้านปลุกกระแสอนุรักษ์พะยูน สัตว์สงวนของไทยที่มีเพียง 200 กว่าตัวร่วมกันให้เกิดการหวงแหนมากขึ้น คาดว่าถ้าวางระบบต่างๆช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้จะได้ชมสดชีวิตมาเรียมผ่านทางเฟชบุ๊ก

เน้นสุขภาพมาเรียม-ปรับชีวิตเข้ากับฝูง

ส่วนข้อเป็นห่วงว่าโอกาสที่มาเรียมจะติดคนหรือมีปัญหาการปรับตัวใช้ชีวิต นายจตุพร ยอมรับว่าแน่นอนว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยเลี้ยงลูกพะยูนแบบพื้นที่ธรรมชาติมาก่อน ยังไม่รู้ว่าอันไหนเหมาะสมที่สุด แต่ต้องเน้นสุขภาพมาอันดับแรกๆ แม้แต่คนลงไปป้อนนมยังต้องมีข้อห้าม เช่น ต้องใส่ถุงมือ ห้ามสัมผัสด้วยมือ ลงดูแลครั้งละไม่เกิน 3 คนห้ามคนที่ไม่เกี่ยวข้องลง เพื่อความปลอดภัยต่อมาเรียม

รวมทั้งการปรับตัวกับธรรมชาติ การเคี้ยวกินหญ้า แต่มีพื้นฐานว่าอีก 6 เดือนหรือ 1 ปีถ้ามาเรียมแข็งก็จะปล่อยคืนธรรมชาติ

การปล่อยมาเรียมไปใช้ชีวิตลำพัง แต่ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จ ต้องดูข้อเท็จจริงสถานการณ์ในเวลานั้น เพราะพะยูนที่ออกจากฝูงมานานการกลับเข้าฝูง การยอมรับของฝูงมีหรือไม่เพราะเป็นสัญซาติญาณและเป็นเรื่องใหม่ของโลก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง