สูญเสีย "วาฬหัวทุย" สัตว์คุ้มครองเกยตื้นตายอีก 1 ตัวถูกตัดกราม

สิ่งแวดล้อม
2 ก.ค. 62
18:48
6,323
Logo Thai PBS
สูญเสีย "วาฬหัวทุย" สัตว์คุ้มครองเกยตื้นตายอีก 1 ตัวถูกตัดกราม
พบซากวาฬหัวทุย สัตว์ทะเลหายากขนาดใหญ่อาศัยทะเลลึก ลอยตายกลางทะเลเกาะลันตา จ.กระบี่ เจ้าหน้าที่กรมประมง-ทช.ลากขึ้นฝั่ง เตรียมผ่าชันสูตรหาสาเหตุตาย เบื้องต้นนักวิชาการ พบร่องรอยแอบถูกตัดปลายกรามล่าง

วันนี้ (2 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong ของดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต โพสต์ข้อความว่าช่วงนี้ เจ้าหน้าที่ทีมสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องรวมทีมบูรณาการทำงานจากทั้ง 5 ศูนย์ เพื่อรับมือกับการเกยตื้นของทั้งเต่าทะเลและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

ล่าสุดพบการเกยตื้นของวาฬหัวทุยที่กระบี่ แต่ขอคนในพื้นที่ช่วยดูแลสมบัติของชาติหน่อยครับ ตอนนี้โดนมือดีขโมยตัดปลายกรามล่างไปเสียแล้ว มีความผิดนะครับเพราะวาฬหัวทุย เป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย

วาฬชนิดนี้ในประเทศไทย พบอาศัยอยู่เฉพาะบริเวณฝั่งอันดามัน ดำน้ำเก่งมาก กินหมึกน้ำลึกเป็นอาหารหลัก ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาพบเกยตื้น 21 ตัว 

สูญเสียสัตว์ทะเลหายากอีก 1 ตัว  

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้รับรายงานแล้วว่าเจอวาฬหัวทุย เกยตื้นตายในทะเล อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ความยาวประมาณ 10 เมตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับแจ้งจากนายศักดิ์ดา ทวีเมือง ประมงอำเภอเกาะลันตา จ.กระบี่ว่ามีชาวประมงพบชากวาฬหัวทุย ระหว่างเกาะหม้อ กับเกาะห้า 

ขณะนี้ได้ลากชากวาฬเข้าสู่ฝั่ง และประสานทีมสัตวแพทย์ ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง และสัตว์แพทย์สังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตตรัง เพื่อดำเนินการเก็บตัวอย่างและชันสูตรหาสาเหตุการตายอย่างละเอียด

ยอมรับว่า ช่วงนี้มีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นตายเยอะมากทั้งวาฬบรูด้า เต่าทะเล ล่าสุดเจอวาฬหัวทุย ซึ่งไม่ใช่วาฬที่พบเจอได้บ่อยนัก ขณะนี้ต้องผ่าพิสูจน์ก่อนว่าตายจากสาเหตุอะไร 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2560 เคยเจอซากวาฬหัวทุยลอยมาติดหาดสุรินทร์ จ.ภูเก็ต ความยาว 12.4 เมตร  

 

ภาพ :Kongkiat Kittiwatanawong

ภาพ :Kongkiat Kittiwatanawong

ภาพ :Kongkiat Kittiwatanawong

วาฬหัวทุย อยู่น้ำลึก-เคยถูกล่าในอดีต

ข้อมูลจากสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต ให้ข้อมูลว่านักวิทยาศาสตร์เรียก วาฬหัวทุย หรือวาฬสเปิร์มเพราะสัตว์ตัวนี้ไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลและมีรูปร่างคล้ายปลาที่มีขนาดใหญ่

วาฬหัวทุยมีหัวขนาดใหญ่มากประมาณ 40% ของตัว ภายในหัวบรรจุด้วยไขมันเหลวสีขาวขุ่นคล้ายสเปิร์ม จึงเป็นที่มาของชื่อวาฬสเปิร์ม ไขมันดังกล่าวใช้ช่วยในการดำน้ำ เมื่อวาฬตัวนี้ว่ายลงไปที่ลึกซึ่งอุณหภูมิน้ำทะเลที่ลดลงทำให้ไขมันแข็งตัวช่วยถ่วงหัวให้ดำน้ำได้เร็วขึ้น มันสามารถดำน้ำได้ลึกถึงประมาณ 3,000 เมตรได้นานถึงประมาณ 1 ชั่วโมง จากการสูดหายใจครั้งเดียวโดยมันสามารถใช้อากาศในปอดได้เกือบทั้งหมด

วาฬหัวทุยมีฟันเฉพาะที่ขากรรไกรล่างประมาณ 25-30 คู่ ส่วนขากรรไกรบนเป็นร่องรับกันฟันล่าง มันจะกินอาหารโดยการงับและกลืนโดยไม่เคี้ยวคล้ายจระเข้ อาหารของมันได้แก่หมึกกล้วยยักษ์ และหมึกหมึกมหึมา  ซึ่งทั้งสองชนิดมีขนาดใหญ่กว่า 10 เมตร เชื่อว่าวาฬหัวทุยสามารถส่งเสียงทำหน้าที่คล้ายกับโซนาร์เพื่อหาตำแหน่งของเหยื่อและทำให้เหยื่อหมดสติ หรือฆ่าเหยื่อได้

วาฬสเปิร์ม ถูกล่าจากมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อนำฟันมาทำเป็นเครื่องประดับ ไขมันในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เนื้อสำหรับรับประทาน นอกจากนี้มูลของวาฬสเปิร์ม ยังมีลักษณะแข็งเหมือนอำพันมีราคาแพงมาก ใช้เป็นส่วนสำคัญในการผลิตหัวน้ำหอมและยาไทย

วาฬหัวทุยหากโตเต็มที่มีขนาดประมาณ 20 เมตร หนักประมาณ 45 ตัน โดยตัวผู้ มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย อายุยืนถึง 70 ปี พบได้ในทะเล และมหาสมุทรทั่วโลก ในน่านน้ำไทยมีรายงานเพียง 3 จังหวัด คือ พังงา ภูเก็ต และสตูล และถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ลูกพะยูน" เกยตื้นที่กระบี่ ถึงมือทีมสัตวแพทย์ ทช.

สูญเสียวาฬบรูด้า

เปิดผลผ่าซาก "เจ้าเด่น" วาฬบรูด้า สันนิษฐานป่วยก่อนตาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง