สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานชื่อพะยูนกระบี่ "ยามีล"

สิ่งแวดล้อม
5 ก.ค. 62
11:13
6,554
Logo Thai PBS
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานชื่อพะยูนกระบี่ "ยามีล"
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อ "ยามีล" ให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุดที่ จ.กระบี่ ซึ่งมีความหมายในภาษายาวีว่า "ชายรูปงามแห่งห้องทะเล" และทรงรับลูกพะยูนทั้ง 2 ตัวไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวประการังฯ

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุดที่ จ.กระบี่ว่า "ยามีล" เป็นภาษายาวี มีความหมายว่า "ชายรูปงามแห่งท้องทะเล" และทรงรับลูกพะยูน "มาเรียม" และลูกพะยูน "ยามีล" ไว้ในโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์”

วันนี้ (5 ก.ค.2562) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ นับว่าเป็นพระเมตตาและเป็นที่ปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คนที่ทำงาน และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลแนวปะการังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ท่านทรงให้ความสำคัญมีพระดำริให้มีโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปะการังและสัตว์ทะเลหายาก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งภายใต้แผนงานโครงการในพระดำริและมีพระกรุณาให้จัดตั้งกลุ่มงานด้านต่างๆ อาทิ กลุ่มงานอนุรักษ์ท้องทะเลไทยและแนวปะการัง กลุ่มงานอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ และกลุ่มงานรณรงค์ปลูกจิตสำนึก

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


ทั้งนี้ ทช.ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวข้องสนองพระดำริตั้งแต่ปี 2560 ที่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน เช่น โครงการติดตั้งและซ่อมแซมทุ่นจอดเรือป้องกันการทิ้งสมอทำลายแนวปะการัง โครงการปลูกฟื้นฟูปะการังแบบบูรณาการ โครงการจัดสร้างปะการังเทียม โครงการให้ความรู้สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรปะการังกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โครงการจัดทำมาตรการการใช้ประโยชน์ในบริเวณแนวปะการังเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งในการสนองโครงการในพระดำริ ถือเป็นภารกิจหลักสำคัญในบทบาทของ ทช. ที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดไป

รักษาแหล่งหญ้าทะเล ก่อนพะยูนสูญพันธุ์

อธิบดี ทช.กล่าวว่า ด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ จากการสำรวจของนักวิชาการพบว่า ในประเทศไทยสามารถพบเห็นพะยูนได้ในบริเวณฝั่งทะเลอันดามันมากกว่าบริเวณฝั่งอ่าวไทย และบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและพื้นที่ใกล้เคียง มีการสำรวจพบฝูงพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลที่มีปริมาณมากที่สุดในประเทศไทย พะยูนอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีการสำรวจพบแนวหญ้าทะเลเท่านั้น เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารหลัก จึงทำให้มีแนวโน้มที่พะยูนกำลังจะเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หากทุกฝ่ายยังไม่ร่วมมือกันอนุรักษ์แหล่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีระบบนิเวศหญ้าทะเล

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


ดังนั้นโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์” จึงกำหนดกลุ่มงานอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยมีแผนงานสนับสนุนการอนุรักษ์พะยูน มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยพะยูนไปขยายผลในระดับประเทศ รวมถึงใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีแหล่งพะยูนและหญ้าทะเล เพื่อกำหนดเป็นโมเดลหลักในการนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีแหล่งพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลได้ในอนาคต

"ยามีล-มาเรียม" ชายรูปงามและหญิงสง่างามแห่งท้องทะเล

ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวล่าสุดที่ จ.กระบี่ว่า "ยามีล" ซึ่งมีความหมายในภาษายาวีว่า "ชายรูปงามแห่งท้องทะเล" และทรงรับลูกพะยูนทั้ง 2 ตัวไว้ในโครงการฯ จึงนับเป็นพระเมตตาและเป็นที่ปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานดูแลลูกพะยูนทั้ง 2 ตัว อีกทั้งยังเปรียบเสมือนการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

อธิบดี ทช.กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการพบลูกพะยูนน้อยมาเกยตื้นบริเวณอ่าวทึง ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ หลังจากมีการตรวจสอบทราบว่าเป็นลูกพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ทางเจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจนำลูกพะยูนตัวดังกล่าวมาอนุบาล บริเวณบ้านแหลมจูโหย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรังเนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเลอันเป็นอาหารของพะยูนที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนมากที่สุดในเมืองไทย

พร้อมกันนี้ได้มีทีมสัตว์แพทย์จากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คอยดูแลคอยป้อนนมและหญ้าทะเล อีกทั้งได้ตั้งชื่อให้ลูกพะยูนน้อยตัวนี้ว่า "มาเรียม" ที่แปลว่า "หญิงสาวที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล" 

ล่าสุด มาเรียมน้ำหนัก 29.7 กิโลกรัม สามารถตอบสนองการเลี้ยงดูอย่างดี มีความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับที่ยังผอม ลักษณะรอยด่างขาวจากความเครียดลดลงอย่างชัดเจน กินหญ้าในแหล่งธรรมชาติได้ การทำงานของทางเดินอาหารเป็นปกติ และการขับถ่ายปกติในทุก ๆ วัน 

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จากนั้นในวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาพบลูกพะยูนเกยตื้นอีกหนึ่งตัวบริเวณชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบเป็นลูกพะยูนเพศผู้ อายุประมาณ 3 เดือน มีความยาว 111 ซม. รอบตัว 66 ซม. น้ำหนักประมาณ 25 กก. สภาพอ่อนแรงและอิดโรยมาก

จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า สภาพร่างกายอ่อนแรง ไม่สามารถประคองตัวเองได้ตามปกติ มีบาดแผลบริเวณแผ่นหลัง 5-6 แผล เป็นบาดแผลร่องรอยขีดข่วน สภาพร่างกายยังคงแข็งแรง และขณะนี้ทีมสัตวแพทย์ ทช.ได้ดำเนินการรับไปดูแลอย่างใกล้ชิด

ล่าสุด พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจเป็นปกติ ทีมสัตวแพทย์ให้นมเป็นนมผงทดแทนในลูกสัตว์ วิตามิน และพลังงาน ซึ่งสุขภาพประจำวัน เริ่มร่าเริงดี กินดี มีการขับถ่ายปกติ 

ตั้งกองทุนมาเรียมอนุรักษ์พะยูนตรัง

อธิบดี ทช.ยังกล่าวทิ้งท้ายว่าขณะนี้ จ.ตรังและหน่วยงานภาคเอกชน จัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือพะยูนและอนุรักษ์พะยูนไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากทะเลตรัง เพราะ จ.ตรัง เป็นถิ่นอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยตั้งชื่อเป็น "กองทุนมาเรียม เพื่อการอนุรักษ์พะยูนตรัง"

พร้อมกันนี้ในวันที่ 7 ก.ค.นี้จะมีการจัดกิจกรรม "ปั่นปันน้ำใจ ให้พะยูนน้อย" ซึ่งเส้นทางการปั่นจักรยานจะเริ่มต้นจากสถานีรถไฟกันตัง สิ้นสุดที่เกาะลิบง โดยค่าสมัครทั้งหมดจะนำเข้ากองทุนมาเรียมฯ ในการดูแล รักษาพะยูนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือนำไปซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อมาทำการรักษาพะยูนได้ทันท่วงทีต่อไป

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง