นักวิชาการตั้งข้อสังเกตกรณีลักลอบทิ้งเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ จ.สระแก้ว

Logo Thai PBS
นักวิชาการตั้งข้อสังเกตกรณีลักลอบทิ้งเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ จ.สระแก้ว
นักวิชาการจี้สอบที่มาและดำเนินการเอาผิดกรณีพบการลอบทิ้งเศษโลหะอิเล็กทรอนิกส์ หลังเทือกเขาซับพลู-เขาภูหีบ จ.สระแก้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เผยแพร่ข้อความและภาพในเฟซบุ๊กเพจ Sonthi Kotchawat โดยระบุว่า การลักลอบกองทิ้งเศษโลหะและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่บดย่อยแล้วบริเวณด้านหลังเทือกเขาซับพลู-เขาภูหีบ พื้นที่บ้านหนองแก หมู่ 8 ต.ตาหลังใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว จำนวนมหาศาลในพื้นที่ 20 ไร่มีข้อสังเกต คือ

1.คาดว่าขยะเหล่านี้มาจากโรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ซึ่งเป็นโรงงานรับคัดแยกและรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการนำซากมาบดย่อยและนำมากองไว้ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อคัดแยกเอาไปขายหรือหลอมเอาทองแดงและทองคำต่อไป

ดังนั้นต้องสอบสวนให้ได้ว่าซากขยะเหล่านี้มาจากไหน และหากมาจากต่างประเทศต้องตรวจสอบว่าเข้ามาได้อย่างไร เพราะกรมโรงงานมีประกาศอย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.2561 ยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 422 รายการและยกเลิกนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วเว้นแต่มีรายการที่แสดงว่ามีความจำเป็นตามรายการที่กรมโรงงานกำหนด

2.การลักลอบนำเศษโลหะและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่บดย่อยแล้วมากองเพื่อคัดแยกดังกล่าวได้ดำเนินไปกว่า 2 เดือนแล้ว แสดงถึงความหย่อนยานการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐและท้องถิ่นที่อาจไม่ทราบกฎหมายห้ามคัดแยกขยะอุตสาหกรรมในที่สาธารณะหรืออาจทราบแต่เพิกเฉย

3.จำเป็นต้องเข้มงวดตรวจเข้มโรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ซึ่งมีอยู่มากกว่า 2,200 แห่งซึ่งตั้งอยู่จำนวนมากในเขต จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งต้องพิจารณายกเลิกคำสั่งคสชที่ 4/2559 ที่กำหนดให้โรงงานประเภท 101 , 105 และ106 ตั้งที่ใดก็ได้ไม่มีผังเมืองบังคับ ทั้งที่จริงแล้วโรงงานประเภทดังกล่าวควรตั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการฯมากกว่าที่จะมาตั้งได้ทั่วไปในชุมชน

4.กรมโรงงานต้องใช้มาตรา 37 หรือมาตรา 39 ของ พ.ร.บ.โรงงานให้ผู้ประกอบการทำการขนย้ายเศษโลหะและขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกไปจากพื้นที่สาธารณะนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการรวมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวและต้องดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับผู้ประกอบการ แต่หากยังไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของขยะดังกล่าวให้ใช้มาตรา 42 พ.ร.บ.โรงงานโดยภาครัฐทำการขนย้ายขยะดังกล่าวไปกำจัดด้วยงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมของกระทรวงทรัพยากรฯเมื่อทราบว่าใครเป็นเจ้าของ ให้เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายรวมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 30 ต่อปีคืนกองทุนสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง