“วิถีเด็กแว้น” มองจากคนใน ไม่ใช่สรุปจากคนนอก

สังคม
28 ก.ค. 62
16:48
20,373
Logo Thai PBS
“วิถีเด็กแว้น” มองจากคนใน ไม่ใช่สรุปจากคนนอก

พ่อแม่ไม่เคยรู้จักลูกบนถนน

การแก้ปัญหาเด็กแว้นต้องแก้ที่พ่อแม่ มันเหมือนมีประโยคที่บอกว่า บ้านไหนปลอดภัย เด็กคนไหนจะอยากออกไปจากบ้าน คือ ถ้าบ้านมันโอเค มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เด็กก็ไม่อยากออกไปแว้นกับเพื่อนข้างนอก

 

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ความเห็นของโจอี้ (นามสมมุติ) เด็กแว้น อายุ 22 ปี ที่อยู่ในวงการนักบิดเสียงดัง บนท้องถนนมานานถึง 10 ปี

โจอี้ไม่เชื่อว่า การประกาศใช้ ม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2558 เพื่อแก้ปัญหาเด็กแว้นบนท้องถนนจะได้ผล แม้จะเอาผิดกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองด้วยก็ตาม

เขาบอกว่า พ่อแม่ไม่เคยรับรู้สิ่งที่ลูกทำเลย โดยเฉพาะการขับขี่รถด้วยความเร็วบนถนน การไปร่วมแก๊งกับกลุ่มเพื่อน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ของบรรดาวัยรุ่น สิ่งที่เห็นจากสื่อทั้งโทรทัศน์หรือออนไลน์ คือพ่อแม่จะรู้ตัวอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวไปรับทราบพฤติกรรมของลูก หรือเมื่อลูกเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือมีเหตุทะเลาะวาทกับเด็กแว้นกลุ่มอื่น

ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองมักบอกว่า “ลูกเป็นเด็กดี ทำมาหากิน ไม่เคยมีเรื่องราวทะเลาะกับใคร” นั่นเป็นเพราะเมื่ออยู่ในบ้าน วัยรุ่นเหล่านี้จะทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่พ่อแม่สั่ง และไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

 

โจอี้เล่าให้ฟังถึงการเข้าสู่วงการเด็กแว้น และการมองดูความเป็นไปของเพื่อนร่วมวงการ ที่แทบจะไม่แตกต่างไปจากเดิม

     “สมัยที่ผมเป็นเด็ก พ่อผมหัดให้ขี่รถมอเตอร์ไซคล์ตอนอายุประมาณ 11 ปี ด้วยรถของพี่ชาย เป็น รถยามาฮ่า JR 120 ตอนนั้น เป็นสังคมของรถคลาสสิก จะเป็นงานจัดประกวดรถคลาสสิกสวยงาม พวก รถฮอนด้า C 70 ฮอนด้าชาลี คัสตอม ส่วนใหญ่จะจัดกลางคืน ในวันเสาร์ ทุกเดือน ในกลุ่มของผมที่ไปร่วมงาน จะมีประมาณ 5-6 คน ผมก็เลยเปลี่ยนไปหารถคันใหม่เป็นฮอนด้าดรีม

ประกอบกับกลุ่มสังคมแถวบ้านผม เพื่อนส่วนใหญ่เป็นเด็กช่างกล ตอนเย็นเลิกเรียนตอนเย็นก็นัดกันเตะฟุตบอล พอเตะฟุตบอลเสร็จก็กลับไปอาบน้ำออกมากินของหวาน กินนม แล้วก็ออกมาขับรถเล่น แล้วค่อยกลับบ้าน และเพื่อนที่เรียนช่างยนต์เขาก็จะแต่งรถด้วย ก็เลยยิ่งชอบ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของผม”

เข้าวงการเพราะชอบความเร็ว

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ความชอบการแต่งรถจักรยานยนต์ ทั้งแต่งเครื่องยนต์ แต่งความงดงามของตัวถัง ตามสไตล์ที่วัยรุ่นชอบ นำไปสู่การประลองความเร็ว

ถามโจอี้ว่า ความท้าทายของวัยรุ่น เริ่มจากอะไร พัฒนาการไปสู่อะไร จึงจะเรียกตัวเองว่าเป็น “เด็กแว้น” และเข้าไปอยู่ในแก๊งได้

เขาบอกว่า ใจคนไม่เท่ากัน การที่จะขับรถให้เร็วมากๆ เราต้องค่อยๆ พัฒนา มันจะค่อยๆ เพิ่มความกล้ามากขึ้นไปเรื่อยๆ

     “ช่วงม.ต้น ม.1-3 เป็นวัยคึกคนอง เห็นเพื่อนทำได้ เราก็ต้องทำให้ได้ มันมีความน่ากลัว แต่ความน่ากลัวสำหรับผมคือ ความท้าทาย ความคิดแบบนี้ อาจจะเป็นสำหรับเด็กแว้นหลายๆ คน ยิ่งขับรถเร็ว ยิ่งมีคนอื่นมอง เฮ้ยขับเร็ว เท่ห์ กล้าขับได้ยังไงแบบนี้ มันเหมือนเป็น Mission ที่เราต้องทำให้ได้ พอเราขับเป็นแล้ว ก็ขับให้เร็วขึ้น พอเร็วแล้ว ก็ต้องยกล้อให้ได้ พอยกล้อได้ต้องหมอบเป็น ต้องทำโน่นทำนี่ มันจะขยับขั้นไปเรื่อยๆ มันเป็นความท้าทายของเรา”

หนีตำรวจได้คือสุดยอดแห่งความท้าทาย

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขั้นของความท้าทายสำหรับเด็กแว้น ไม่ได้แค่ขับรถเร็วเท่านั้น โจอี้บอกว่า พัฒนาการ และความกล้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน

แล้วแต่คนครับ บางคนขี่รถเร็วแล้วนอนหมอบไปกับเบาะ บางคนถนัดยกล้อ ก็มีหลายท่า แบบยืนยกล้อเหยียบเบาะหลัง ยกล้อเลี้ยงหรือยกในระยะยาว ยกแบบคนเดียวที่ไม่มีคนซ้อน คือการยกล้อท้ายคือมีคนซ้อนคนหนึ่ง คนขับคนหนึ่ง คนซ้อนคือถ่วงหลัง เพื่อให้คนหน้ายก แต่การยกคนเดียว คือรถคุณกำลังเครื่องต้องดี ในการเร่งครั้งเดียวแล้วบิดคันเร่งยกล้อได้เลย โดยที่คนซ้อนไม่มี แต่คุณสามารถประคองรถด้วยตัวเองคนเดียวได้

ส่วนการขี่ด้วยความเร็วแล้วหมอบ ถ้าเป็นรุ่นเก่าๆ จะเป็นการหมอบข้างหนึ่ง แล้วใช้มืออีกข้างเข้าเกียร์แทนเท้า และการหมอบแบบธรรมดา คือหมอบแล้วขี่ไปปกติ

แต่เมื่อถามถึง “ที่สุดของความท้าทาย” ในการเป็นเด็กแว้นคืออะไร

โจอี้บอกว่า หนีตำรวจได้

     “อย่างคุณขับมาอยู่ดีๆ แล้วตำรวจตั้งด่านอยู่ข้างหน้า ตำรวจเห็นคุณแล้ว และพร้อมที่จะจับ ตอนนั้นใจคุณก็จะ 50 : 50 แล้ว ว่าจะโดนจับหรือไม่โดน แต่ถ้าคุณหนีรอดมาได้แล้ว และขี่ข้ามไปอีกฝั่งของถนน จนตำรวจไม่สามารถข้ามมาจับคุณได้แล้ว และคุณก็จะบีบแตรเยาะเย้ยตำรวจ เสมือนว่า “อยู่ฝั่งนี้นะ มาจับสิ เรารอดแล้ว มันคือสนุก ท้าทาย คือเป็นศัตรูกัน เราเยาะเย้ยศัตรูได้”

ขอมี “ตัวตน” ในสังคมแว้นเท่านั้น

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ในการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม ส่วนใหญ่จะแตกต่างกันหรือถูกแบ่งแยก โดยกลุ่มคน ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม ความรู้ อาชีพ สถาบันการศึกษา ฯลฯ ซึ่งโจอี้มองว่า ในความเป็นจริง “เด็กแว้น” ก็รวมกลุ่มกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะมีความชอบที่เหมือนๆ กัน เพียงแต่กิจกรรมของเด็กแว้น กลับถูกมองเป็น “ลบ” จากสังคมภายนอก

มีงานวิจัยหรืองานเขียนเชิงวิชาการหลายชิ้น ที่ระบุว่า การแว้นหรือการขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็ว เป็นการความต้องการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มวัยรุ่น ที่ต้องการมีพื้นที่แสดงออก มีที่ยืน การยอมรับ ในสังคม แต่โจอี้กลับไม่ยอมรับความเห็นเหล่านั้น เขามองว่า เด็กแว้นไม่เคยสนใจการมอง หรือการให้คุณค่าจากสังคมภายนอก มาที่กลุ่มพวกเขาเลย เขามองว่า สิ่งที่เด็กแว้นทำ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ สังคมภายนอกก็มองเป็นภาพลบอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญของเด็กแว้นคือ ต้องการการยอมรับจากสมาชิกเด็กแว้นด้วยกันเท่านั้น

พวกเราเป็นแค่คนกลุ่มย่อย วัฒนธรรมย่อย ๆ อย่างเรารักอะไรซักอย่าง หรือทำอะไรซักอย่าง เราเข้าไปอยู่ในสังคม เรามีสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราทำอะไรขึ้นมาแล้วคนนั้นคนนี้ยอมรับ การแว้นของพวกผมก็เหมือนกัน

เราเข้าไปอยู่ในสังคมนี้ เราทำตัวอย่างนี้ รถเราแรง รถเราแข่งชนะ รถเราสวยเท่ห์ เราก็มีสถานะขึ้นมา เรามีตัวตนขึ้นมา ในกลุ่มเรา อย่างเวลาเราไปแข่ง เราชนะขึ้นมา เรามีชื่อเสียง มีคนรู้จักเราในโซเชียลในกลุ่มของพวกเราเอง เราเป็นแชมป์เก่า เราไปกลุ่มไหนในกลุ่มเด็กแว้น คนรุ่นหลังก็จะทักทายให้เพื่อนดู เฮ้ยพี่คนนี้เจ๋งว่ะ เราอาจจะเป็นไอดอล ของเด็กรุ่นหลังๆ พี่คนนี้เท่ห์ว่ะ มีคนติดตามเฟซบุ๊กเป็นหมื่น

นั่นหมายความว่า การเป็นเด็กแว้นเกิดจากการรวมตัวของคนที่มีพื้นฐานบางอย่างเหมือนกันหรือคล้ายกัน ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ความชอบส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งพร้อมที่จะไม่สนใจการมองจากสังคมอื่น หรือการนิยามจากสังคมอื่นว่า “เด็กแว้น” เป็นใคร หรืออาจมองในเชิงลบ ว่า เป็นพวกก่อความเดือดร้อนรำคาญ สร้างปัญหา เป็นเด็กมีปัญหา ฯลฯ

คนนอกกลุ่มคือคนอื่น

เมื่อถามโจอี้ว่า เด็กแว้นเคยพูดคุยกัน ถึงภาพลักษณ์ที่คนภายนอกมองในเชิงลบหรือไม่ โจอี้บอกว่า ผมคิดว่าความสุขของผม กับความทุกข์ของคนอื่น ผมเลือกความสุขของผม เชิงเห็นแก่ตัว แต่ด้วยวัย ด้วยความท้าทาย อะไรหลายๆ อย่าง รถผมก็ทำท่อดัง คิดว่า บางทีเรารบกวนคนอื่น ทำคนอื่นหนวกหู แต่บางทีเราทำเพราะเราชอบ อย่างเราขับเราก็สนุกมือ มันมีความสุขกับการได้ยินเสียงอะไรแบบนั้น

ผมไม่ได้ต้องการให้ใครมาเข้าใจ ขอแค่ให้เราเข้าใจกันเอง ประมาณว่าถ้าคนอื่นด่ามา เราก็รับรู้ แต่เราไม่ได้เอามาคิด ก็ผมจะขับของผมอย่างนี้ ส่วนหนึ่ง เรียกว่าเห็นแก่ตัวก็ได้ แต่ผมไม่ได้แคร์

โจอี้มองว่า การเป็นเด็กแว้นไม่ได้เกี่ยวกับสังคม แต่เกี่ยวกับกลุ่มย่อย วัฒนธรรมย่อย เฉพาะกลุ่มมากกว่า เพราะขับรถไปท่อเสียงดัง คนทั่วไปก็ไม่ชอบอยู่แล้ว จะให้เขายอมรับไม่ได้ แต่สำหรับในกลุ่มเด็กแว้น ท่อคุณเสียงดัง มันจะผกผันกัน เราเป็นคนชอบรถ เล่นรถ เราเห็นท่อของคนนั้นเสียงดัง เราชอบ เราก็อยากให้คนอื่นชอบเราเหมือนกัน

ถ้าคนทั่วไปเราไม่ได้แคร์อะไร รู้อยู่แล้วว่าเขาคิดอะไร มองยังไง ถ้าเราขับไปเบิ้ลเครื่องอยู่หน้ารถยนต์ตอนติดไฟแดง ยังไงคันหลังก็ด่า แต่ผมก็จะเบิ้ลอยู่อย่างนั้น ถ้าเขาลงมายิงค่อยขับหนีแล้วกัน (หัวเราะ) เราจะให้คุณค่ากับสังคม และกลุ่มของเรามากกว่า เพราะเราอยู่กับกลุ่มกันมากกว่า

พ่อแม่เป็นจุดเริ่มของการเป็นเด็กแว้น

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

โจอี้บอกว่า การเป็นเด็กแว้นหรือเข้ามาสู่วงการนี้ นอกจากองค์ประกอบข้างต้นแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่เขาพบคือ การเกิดและเติบโตมาในสังคมของเด็กแว้น

โจอี้เล่าว่า การเป็นเด็กแว้นตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่ถูกห้ามจากครอบครัว เพราะหลายครอบครัวก็เป็นเด็กแว้นมาก่อน

สิ่งที่พบมากคือ เด็กแว้น มีลูกเร็ว คือ อายุ 17-18 ปี มีลูกแล้ว หรือเร็วกว่านั้น ซึ่งรุ่นลูกถ้ายังอยู่ในสังคมที่พ่อแม่ ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ รุ่นลูกก็จะเป็นเด็กแว้นตามไปด้วย เด็กบางคนเติบโตมาเห็นพ่อแม่แต่งรถก็จะซึมซับและเคยชิน

     "ในสนามแข่งที่เห็นทุกวันนี้ พ่อแม่จะพาลูกตัวเล็กๆ ไปด้วย ในสนามแข่งจะมีทุกรุ่นเลย แม่อุ้มลูกตัวเล็กๆ มาด้วย นั่งดูพ่อแข่งรถ บางคนจะให้ลูกแข่ง ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะตัวเล็ก มีโอกาสชนะได้มากกว่า”

หลายคนมองว่า การมีลูกในช่วงวัยรุ่นของเด็กแว้น เริ่มมาจากการพนัน โดยมีสก๊อย หรือสาวนั่งท้ายรถเป็นเดิมพัน จากการแสดงความสามารถให้เกิดการยอมรับในกลุ่ม มาสู่การพนัน และการมีเพศสัมพันธ์

การรวมตัวกันของเด็กแว้น แม้จะมีหัวหน้ากลุ่มที่ได้รับการยอมรับจากเด็กรุ่นหลัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง หรือได้รับการเชื่อฟัง ทำให้เหตุการณ์ทะเลาะวิวาท การใช้ยาเสพติด เป็นสิ่งที่เข้ามาในกลุ่มเด็กแว้น

โจอี้บอกว่า เมื่อมีการรวมตัวกันของวัยรุ่น จะมีความคึกคนอง การดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด จึงเป็นเรื่องปกติ เมื่ออยู่ระหว่างรอการแต่งรถ การนั่งพูดคุยสนุกสนานระหว่างกัน การนัดพบปะเพื่อทำกิจกรรม และอาจบานปลายไปสู่การทะเลาะวิวาท เมื่อไปเที่ยวเตร่นอกถิ่น หรือมีเรื่องชู้สาวเข้ามา

โซเชียลมีเดียกระตุ้น รายได้สะพัด

ปัจจัยสำคัญอีกอย่าง ที่กระตุ้นให้เกิดการรวมตัวมากขึ้น คือ โซเชียลมีเดีย ที่ผ่านมา เด็กอาจจะเห็นกลุ่มเพื่อนที่ออกไปแว้นกัน 4-5 คัน แต่ทุกวันนี้ มียูทูป มีเฟซบุ๊ก มีไลน์กลุ่มของเด็กแว้น

วัฒนธรรมกลุ่มนี้ มีย่อยๆ ออกไปอีก เช่น บางแห่งปิดถนนแข่งได้ ทำให้เด็กมีแรงกระตุ้นมากขึ้น ว่าเราก็ทำได้ ยิ่งเข้าไปสัมผัสเยอะๆ เราก็ยิ่งรับมาเยอะขึ้น

ทุกวันนี้ในกลุ่มเด็กแว้นขนาดใหญ่ทั่วประเทศประมาณ 10 กลุ่ม ที่มีสมาชิกกลุ่มละ 100 คันขึ้นไป และสามารถเรียกสมาชิกเพิ่มได้ในเวลาอันรวดเร็วถึง 1,000 คัน ในแต่ละกลุ่มมักเป็นสมาชิกสนามแข่ง เมื่อมีการแข่งขันก็มีการพนันตามมา

มีคำหนึ่งในภาษาของเด็กแว้นคือ เช็ง ผมเห็นรถคุณแล้ว ลองเช็งกันมั้ย เท่าไหร่ จากนั้นก็ไปบอกคนคุมสนาม หรือถ้าแข่งกันในสนามไม่พอใจ ก็ไปบอกสนามว่า เราขอเปิดรุ่นนี้ คุณกับผมมาลองกันรุ่นนี้

นอกจากการพนันที่สนามจัดแล้ว ยังมีการจับคู่แบบนี้เพิ่มอีก ซึ่งโจอี้บอกว่า เขาเคยเห็นการพนันประลองความเร็วเพียงคู่เดียวสูงถึง 3 ล้านบาท ในระยะมาตรฐานของวงการแว้นคือ 201 เมตร

เงินจากการพนันเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเข้าไปยังอู่ที่เด็กแว้นคนนั้นสังกัด และส่วนหนึ่งไปที่นักแข่งวัยรุ่น ยังไม่นับรวมกับธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องในสนาม ทั้งการแต่งรถ การขายอะไหล่ และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก จากการยอมรับของบรรดานักแข่งวัยรุ่น ที่เห็นอู่ต่างๆ ส่งนักแข่งเข้ามาประลอง

กฎหมายอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหา

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ขอบคุณภาพ : พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์

ถึงวันนี้แม้จะมองเห็นภาพรวมของ “เด็กแว้น” ทั้งต้นทางปัญหา ผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง แต่การ “พยายาม” มองอีกมุมของความเป็นเด็กแว้น แทบจะเบาบางเต็มที

เราจึงเห็นว่า หลายฝ่ายพยายามบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเด็กแว้น แต่นั่นเสมือนจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง

ทั้งที่ผ่านมาแทบจะไม่เคยเห็นการ “พูดคุย” กับคนที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาอย่าง “เด็กแว้น” เลย ขณะที่มีหลายพื้นที่พยายามหา “ทางออก” ด้วยการสร้างสนามแข่ง ให้วัยรุ่นเหล่านี้ มีโอกาสเข้าไปใช้เพื่อประลองความเร็ว โดยมีข้อแม้ว่า ห้ามแข่งนอกสนามหรือบนถนน

ซึ่งโจอี้มองว่า “สนามแข่ง” จะเป็นตัวดึงดูดให้เด็กแว้นทั้งหลายเข้าไปรวมตัวกัน และลด-เลิกการแข่งรถบนท้องถนน เพราะหากมีขึ้นอีก คนที่อยู่นอกสนามจะถูกมองจากกลุ่มเด็กแว้นด้วยกันเองว่าผิดข้อตกลง และจะไม่ได้รับการยอมรับในที่สุด

นั่นหมายถึงการย้อนกลับมาสู่แนวคิดของเด็กแว้น ที่ต้องการการยอมรับจากกลุ่ม-พวกเดียวกัน และการแสดงตัวตนในสนามแข่ง นั่นคือการจะถูกยอมรับไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม แนวคิดการสร้าง “สนามแข่ง” เขาก็ยังมองว่าเป็นเรื่องยาก ตราบใดสังคมยังมองว่า เด็กแว้นคือคนมีปัญหา แล้วจะมาเรียกร้องอะไรอีก แต่ถ้ามองอีกมุมคือการสร้างทัศนคติใหม่เพื่อการแก้ปัญหาร่วมกัน แทนที่จะ “จัดการ” เพียงปลายเหตุด้วยกฎหมาย ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง