กลุ่มสิทธิสัตว์ตั้งคำถาม ชะตาชีวิต "เสือ" ติดโรค

สิ่งแวดล้อม
16 ก.ย. 62
13:10
612
Logo Thai PBS
กลุ่มสิทธิสัตว์ตั้งคำถาม ชะตาชีวิต "เสือ" ติดโรค

กรณี เสือโคร่ง ของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี ที่กรมอุทยานฯนำมาดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และเขาสน จ.ราชบุรี ป่วยตายกว่า 80 ตัว 

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2562 เพจเฟซบุ๊ก สัตว์ : สิทธิและโอกาส – Thailand Animal Rights Alliance ได้โพสต์ข้อความตั้งคำถามถึงความเหมาะสมกับการดำเนินการกับเสือของกลาง โดยระบุข้อความว่า

การบังคับใช้กฎหมายต่อการกระทำผิดกฎหมายสัตว์ป่าเป็นเรื่องดี แต่คุณภาพชีวิตของสัตว์ที่ถูกยึดมานั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะชีวิตไม่ใช่สิ่งของที่จะวางไว้ยังไงก็ได้และที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมากที่พวกเค้าที่ตกเป็นเหยื่อของการหาประโยชน์มาแล้ว ต้องกลายมาเป็นเหยื่อการทารุณกรรมซ้ำซาก จากปัญหาการดูแลสัตว์ของภาครัฐ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่าของกลางแทบทุกชีวิต

กรณีเสือของกลางที่ถูกยึดมาจากสวนสัตว์วัดเสือ ซึ่งหลังจากได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารกรมอุทยานฯ ล่าสุด หลังการตายของเสือกว่า 86 ชีวิต หลังการยึดปี 2559 " ถึงเรื่องการกำจัดชีวิตเสือที่เหลือ ที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยทิ้ง" ขนาดเครื่องจักรพังยังหาทางซ่อม แต่ชีวิตทั้งชีวิตละ 

ในฐานะคนที่ทำงานเกี่ยวกับการช่วยสัตว์และสิทธิสัตว์แล้ว ยอมรับว่าตกใจมากกับแนววิธีการคิดของผู้บริหารกรม ที่ดูตรงข้ามกับกับท่าทีของนายวราวุธ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตสัตว์

สังคมต่างมีคำถามและต้องการคำตอบเช่นกัน พวกเรามีคำถามมากมายต่อกรณีการเสียชีวิตของเสือเป็นจำนวนมาก โดยที่ผ่านมากว่า 3 ปี ไม่มีข้อมูลใดใดมาเปิดเผยต่อสาธารณชนจนกระทั่งสื่อนำมาเปิดเผย ณ วันนี้ ต่อสาเหตุที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ออกมาสัมภาษณ์ในเรื่องเสือติดหัดสุนัขและโรคต่างๆ ตาย แต่เสือไม่ได้ตายรวดทีเดียว 86 ตัว จนร้ายแรงสิ้นหวัง 

แต่ข้อเท็จจริงตั้งแต่ปี 2559 เสือที่ทยอยตาย หลังถูกย้ายมาทั้งสองศูนย์ทั้งส่วนเขาสนและเขาประทับช้างตามลำดับนั้น

ปี 2560  เขาสน 19 ตัว : ประทับช้าง 25 ตัว

ปี 2561  เขาสน 7 ตัว : ประทับช้าง 15 ตัว

ปี 2562 : เขาสน 9 ตัว : ประทับช้าง 5 ตัว

ภาพ : สัตว์ : สิทธิและโอกาส - Thailand Animal Rights Alliance.

ภาพ : สัตว์ : สิทธิและโอกาส - Thailand Animal Rights Alliance.

ภาพ : สัตว์ : สิทธิและโอกาส - Thailand Animal Rights Alliance.

สติถิที่บอกอะไร ?

คำถามแรก ในช่วงเสือเริ่มตาย 1-10 ตัวแรก ได้มีการร้องขอให้หน่วยงานไหนเข้ามาหาทางแก้ไขปัญหา หรือไม่ ? ทั้งสาเหตุจากโรค และสาเหตุที่เกิดจากปัญหาความเครียดจากสถาณที่และการเลี้ยงดู

และตั้งแต่ยึดเสือมาทั้งหมด เคยมีสถาบันสัตว์แพทย์แห่งใด ยื่นความจำนงมาช่วยเหลือหรือไม่ ? ถ้ามีเหตุใดถึงปฎิเสธ 

ขณะที่ความคิดการกำจัดเสือทิ้งมันไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง คนดูแลชีวิตสัตว์และสิ่งแวดล้อม จะต้องเห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิตอื่น การให้โอกาสให้พวกเขาได้มีชีวิตรอดนั่นคือแนวทางการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่อุทยานที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติจะต้องไม่มองสัตว์และสิ่งแวดล้อม คือปัญหา และไม่ได้มองว่าชีวิตเป็นสินค้าคุณภาพหรือไม่คุณภาพ

ทั้งนี้ อยากให้อธิบดีกรุณาทบทวนในสิ่งที่คิดและกำลังจะออกคำสั่ง เพราะการหาเหตุเพื่อกำจัดสัตว์ที่ยังมีโอกาสที่จะอยู่รอดนั้น มันเป็นสิ่งรับไม่ได้ ในฐานะประชาชนอยากถาม เมื่อเสือตายไปแล้ว ซากเสือเอาไปไว้ที่ไหน ? ขอให้ตอบให้สังคมได้รับความกระจ่าง

 

เสือของกลาง โอกาสรอดน้อย

ขณะที่วันนี้ (16 ก.ย.2562) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ชี้แจงกรณีสาเหตุการตายของเสือโคร่งของกลาง ในหลายประเด็น (อ่านข่าว : กรมอุทยานฯ ยันเสือของกลางป่วยโรคหัดสุนัข-อัมพาตลิ้นกล่องเสียง 86 ชีวิต )

นายสัตวแพทย์เบญจรงค์ สังขรักษ์ สัตวแพทย์กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กล่าวถึง กรณีเสือโคร่งของกลาง วัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี ป่วยตาย ว่า เสือส่วนใหญ่มีภาวะเครียด และพบว่ามีปัญหาระบบทางเดินหายใจ มีอาการหายใจเสียงดัง ซึ่งเป็นอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ทำให้การหายใจเข้าออกลำบาก เมื่ออาการหนักมากขึ้นจะไม่กินอาหาร มีอาการชักเกร็ง และตายในที่สุด

นอกจากนี้ ยังพบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข ซึ่งโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัข และสัตว์ป่าหลายชนิดรวมทั้งเสือโคร่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษา ทำได้เพียงการรักษาตามอาการ หลังการติดเชื้อจะพบอาการผิดปกติใน ระบบประสาท ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร

นายสัตวแพทย์เบญจรงค์ กล่าวว่า เสือของกลางที่เหลือ มีอาการหนัก โอกาสรอดชีวิตอาจจะน้อย อย่างในสุนัข แมว สามารถดูแลรักษให้น้ำเกลือได้ตลอดเวลา แต่สำหรับเสือซึ่งเป็นสัตว์ป่า หากจะใช้วิธีการแบบเดียวกันทำได้ยาก เพราะต้องวางยาสลบ ซึ่งจะทำให้เสือเครียด

ส่วนสาเหตุการติดเชื้อขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่หากเสือตัวนั้นมีเชื้อไข้หวัดสุนัขอยู่แล้ว เชื้อจะมีการแพร่กระจายตลอดชีวิต เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ ก็จะมีการแสดงอาการออกมา เช่น มีน้ำมูก น้ำตาไหล ท้องเสีย และชักเกร็ง  

 

ขณะที่ นายสุนทร หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ให้ข้อมูลว่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง มีจำนวนเสือโคร่ง 45 ตัว เป็นเสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จากที่รับมา 85 ตัว ตาย 54 ตัวคงเหลือ 31 ตัว (พ.ค.59-15 ส.ค.62) และมีเสือโคร่งของกลางในคดีอื่นๆ จำนวน 5 ตัว และเสือโคร่งจากการส่งมอบคืนให้กรมอุทยานฯ 9 ตัว

ขณะที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน มีเสือโคร่ง จำนวน 33 ตัว เป็นเสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตาบัวญาณสัมปันโน จากที่รับมา 62 ตัว ตาย 32 ตัว คงเหลือ 30 ตัว (มี.ค.60 - ก.ค.62) และมีเสือโคร่งของกลางในคดีอื่นๆ จำนวน 3 ตัว

ทั้งนี้ เสือโคร่งที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จำนวน 147 ตัว ตาย 86 ตัว คงเหลือ 61 ตัว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เสือโคร่ง" ของกลางป่วยหัดสุนัข-อัมพาตลิ้นกล่องเสียงตาย 86 ตัว

แกะรอยเส้นทางแพร่ "โรคหัดสุนัข" ภัยเงียบคร่าเสือ 86 ชีวิต

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง