เฝ้าระวังเสือโคร่ง 44 ตัว "เครียด-เลือดชิด-ติดโรค" เสี่ยงตายเพิ่ม

สิ่งแวดล้อม
16 ก.ย. 62
13:38
1,706
Logo Thai PBS
เฝ้าระวังเสือโคร่ง 44 ตัว "เครียด-เลือดชิด-ติดโรค" เสี่ยงตายเพิ่ม
กรมอุทยานฯ ชี้แจงเสือโคร่งของกลาง ที่รับมาจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี ตาย 86 ตัวจาก 147 ตัว สาเหตุจากสุขภาพอ่อนแอ เครียด ภาวะเลือดชิด มีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย ระบุอีก 44 ตัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยง พบ 5 ตัวมีอาการรุนแรงเสี่ยงตายเพิ่ม

วันนี้ (16 ก.ย.2562) นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมทีมสัตวแพทย์ กรมอุทยานฯ ทีมสัตวแพทย์ที่รักษาอาการเสือป่วย พร้อมด้วยนายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี มาร่วมแถลงข่าวกรณีเสือโคร่งของกลาง จากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรีตายจำนวน 86 ตัว จาก 147 ตัว ซึ่งจากการตรวจสอบพันธุกรรม พบว่าเสือโคร่งที่ตายส่วนใหญ่ เป็นเสือโคร่งสายพันธุ์ไซบีเรีย ที่เกิดจากการผสมพันธุ์กันเองจากเสือที่ยึดไว้ เมื่อปี 2544 เพียง 6 ตัวเท่านั้น

นายสุนทร ฉายวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัวฯ เป็นการดำเนินการในภาวะไม่ปกติ เสือโคร่งที่เคลื่อนย้ายมา ส่วนใหญ่มีภาวะเครียด เนื่องมาจากการขนย้ายและเปลี่ยนสถานที่ ต่อมาพบปัญหาการเจ็บป่วย โดยพบว่ามีปัญหาระบบทางเดินหายใจ มีอาการหายใจเสียงดังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ทำให้การหายใจเข้าออกลำบาก เมื่ออาการหนักมากขึ้นจะไม่กินอาหาร มีอาการชักเกร็ง และตายในที่สุด

นอกจากนี้พบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัข และสัตว์ป่าหลายชนิดรวมทั้งเสือโคร่ง ปัจจุบันยังไม่มียารักษา ทำได้เพียงการรักษาตามอาการ ภายหลังจากการติดเชื้อจะพบอาการผิดปกติในระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร 

สรุปเสือโคร่งตายเริ่มตาย ตั้งแต่พ.ค.2559-ส.ค.2562 รวม 86 ตัว แบ่งเป็นเขาประทับช้างตาย 54 ตัว และมีเสือโคร่งในคดีอื่นอีก 5 ตัว ส่วนที่เขาสน มีเสือโคร่งตาย 32 ตัว เหลือเสือ 61 ตัว สาเหตุหลักเกิดจากร่างกายอ่อนแอ ผสมพันธุ์กันเอง และความเครียด นำไปสู่อาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง และพบโรคไข้หัดสุนัข

เครียด-เลือดชิด-อ่อนแอ พบกลุ่มเสี่ยงอีก 44 ตัว 

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า หลังจากที่ตรวจพบอาการระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากลิ้นกล่องเสียงมีอาการบวม ไม่สามารถขยับเปิดปิดระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหารได้สนิท ทำให้หายใจลำบากมีเสียงดัง และมีอาการหอบ หากมีปัจจัยของอุณภูมิที่สูงขึ้น จะส่งผลต่ออาการเครียดและตายเฉียบพลัน การรักษาสัตวแพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะลดอาการอักเสบ ลดไข้ รักษาอาการภูมิแพ้

บางตัวพบว่ามีอาการหายใจเสียงดังมาก สัตวแพทย์จะผ่าตัด แต่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดอาการของโรคที่แน่ชัด ต่อมาส่งตัวอย่างเสือโคร่งที่ตาย พบว่าให้ผลบวกต่อเชื้อไข้หัดสุนัข ซึ่งการรักษาไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะ สัตวแพทย์ต้องรักษาตามอาการ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยากระตุ้นภูมิ

ทั้งนี้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสัตวแพทย์จากซาฟารีเวิลด์ แก้ไขปัญหาระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง และเป็นสาเหตุของการตาย เพื่อผ่าตัดลิ้นกล่องเสียง ไม่ให้ปิดกั้นระบบทางเดินหายใจในเสือโคร่งที่แสดงอาการหนัก โดยร่วมกับสัตวแพทย์ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ดำเนินการผ่าตัด

 

ส่วนที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ในการตรวจตัวอย่างจากห้องปฏิบัติการปัจจุบันไม่พบการแพร่ระบาดเชื้อโรคไข้หัดสุนัข แต่เสือโคร่งยังมีอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียงที่เป็นสาเหตุการตาย สัตว แพทย์ได้รักษาตามอาการ กำหนดแนวทางการในการดูแลเสือโคร่งที่เหลืออยู่ ให้มีอัตราการตายลดลง และมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น

สาเหตุที่เสือป่วยตายส่วนหนึ่งมาจากภาวะเครียด และสุขภาพที่ไม่ดีมาก่อนจากต้นทาง เพราะเสือกลุ่มนี้มีการผสมกันจนเกิดภาวะเลือดชิด ซึ่งเห็นได้จากลูกกรอกเสือที่เจอจำนวนมาก บางตัวเมื่อร่างกายอ่อนแอ ไม่มีภูมิคุ้มกันจึงทำให้ถูกจู่โจมจากเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เลือดชิดในสัตว์ป่าก็เจอเช่น ช้างขาโก่ง ลิงปากแหว่ง 

จัดกลุ่มเฝ้าระวังวางมาตรการดูแลเสือ

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการดูแลสุขภาพเสือโคร่งที่เหลืออีก 61 ตัวได้แบ่งกลุ่มอาการเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มปกติ ไม่แสดงอาการ กลุ่มเริ่มแสดงอาการเล็กน้อย และกลุ่มแสดงอาการปานกลางถึงรุนแรง เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจติดตามอาการและประเมินการรักษา

ตอนนี้กลุ่มที่เริ่มแสดงอาการป่วย มี 39 ตัว อยู่ที่เขาประทับช้าง 26 ตัว เขาสน 13 ตัว ส่วนที่แสดงอาการปานกลางถึงรุนแรง 5 ตัวแบ่งเป็น เขาประทับช้าง 3 และเขาสน 2 ตัว

ขณะนี้ประสานกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล จะเก็บอุจจาระ และเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ เมื่อรู้ผลสัตวแพทย์ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า จะพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัขตามขั้นตอน ติดตามผลเป็นระยะ

 

 

ชี้กลุ่มเสี่ยงติดโรคมีโอกาสรอดน้อย

ด้านนายสัตวแพทย์เบญจรงค์ สังขรักษ์ สัตวแพทย์กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กล่าวว่า เสือตายจากโรคอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ส่งผลให้การหายใจยากลำบาก รวมทั้งมีโรคไข้หัดสุนัขร่วมด้วย ส่วนเสือของกลางที่เหลืออยู่นั้น ในเคสที่อาการหนักก็จะมีเปอร์เซ็นการรอดชีวิตน้อย ขณะนี้มีอาการป่วย 44 ตัว ในจำนวนนั้นมีอาการหนัก 5 ตัว 

ส่วนการดูแลรักษาเสือโคร่งที่มีอาการป่วย สัตวแพทย์จะรักษาและให้ยาตามอาการ ส่วนเสือโคร่งที่มีอาการหายใจเสียงดัง จากอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง และมีโอกาสตายหากไม่ได้รับการรักษา สัตวแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเป็นรายกรณี

ด้านนายบรรพต  กล่าวถึงการจัดการซากเสือว่า ได้ทำตามหลักวิชาการ คือ แจ้งความ ผ่าพิสูจน์ซาก และเก็บซากทั้งตัวลงในถังพลาสติก 200 ลิตร ซึ่งทุกขั้นตอนมีการถ่ายภาพ และเก็บประวัติ หากฟอร์มาลีนหมดอายุ และซากมีสภาพเน่าก็จะนำฝังดินทั้งถัง ไม่มีการแยกหนังเสือและอวัยวะใดๆอย่างเด็ดขาด 

 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

"เสือโคร่ง" ของกลางป่วยหัดสุนัข-อัมพาตลิ้นกล่องเสียงตาย 86 ตัว

แกะรอยเส้นทางแพร่ "โรคหัดสุนัข" ภัยเงียบคร่าเสือ 86 ชีวิต

“กรมอุทยาน” ให้ทีมมหิดลพิสูจน์เสือป่วยตายโรคหัดสุนัข

ย้อนเส้นทางเสือโคร่งของกลาง 147 ตัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง