ไม่ช่วย "ลัลลาเบล" เข้าข่ายข้อหาฆ่าโดยงดเว้น?

อาชญากรรม
23 ก.ย. 62
16:21
11,597
Logo Thai PBS
ไม่ช่วย "ลัลลาเบล" เข้าข่ายข้อหาฆ่าโดยงดเว้น?
นักกฎหมาย ไขข้อสงสัย "ข้อหาฆ่าโดยงดเว้น" คืออะไร พร้อมชี้คดีลัลลาเบลอาจเข้าข่าย เช่นเดียวกับคดีตัวอย่างปี 2555 หนุ่มขี่มอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุ ทิ้งแฟนสาวบาดเจ็บไม่ช่วยเหลือ

วันนี้ (23 ก.ย.2562) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เกี่ยวกับคดี ลัลลาเบล ระบุว่า ชมรมไม่เห็นด้วย กับข้อหากระทำโดยประมาท ข้อหาที่ถูกต้องคือการฆ่าโดยงดเว้นมากกว่า ดังนั้นจะทำหนังสือขอให้ตำรวจทบทวนอีกครั้ง

(อ่านเพิ่มเติม : หลักฐานเพิ่ม ! "อัจฉริยะ" จี้ตำรวจทบทวนข้อหาฆ่า "ลัลลาเบล")

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตำรวจจะออกหมายจับผู้ต้องสงสัยได้ภายในวันที่ 25 ก.ย.นี้ เนื่องจากต้องรอผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ประกอบกับการเข้าตรวจสอบบ้านย่านบางบัวทอง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานปาร์ตี้อีกครั้งว่า จะมีผู้ร่วมกระทำความผิดเพิ่มเติมหรือไม่

ขณะเดียวกัน ผศ.ธนาวุฒิ วงศ์อนันต์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อหา "ฆ่าโดยงดเว้น" ตามประมวลกฎหมายอาญา 1ผ่านเฟซบุ๊ก Tanawut Wonganan ว่า คำถามลอยมาจากห้องเรียน

อาจารย์ครับ สมมติผมไปเจอน้องคนหนึ่งในผับ น้องเมามาก ผมพามาที่ห้อง แล้วจู่ๆ น้องเขาชักจนน้ำลายฟูมปาก ผมตกใจ ทำอะไรไม่ถูก เช็ดตัวก็แล้ว เรียกน้องเขาก็แล้ว น้องยังไม่ฟื้น ผมเลยติดต่อให้ญาติเขามารับ โดยผมอุ้ม/ลากน้องเข้าไปไว้ที่โซฟาล็อบบี้ด้านล่าง ต่อมาน้องเขาตาย ผมจะผิดอะไรไหม...

นักศึกษาที่เรียนกฎหมายอาญา 1 กับผมคงพอจำได้ว่า บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อกระทำโดยเจตนา "การกระทำ" นั้นหมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย โดยรู้สำนึกภายใต้จิตใจบังคับ การไม่เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ถือว่าจะเป็นการกระทำทุกกรณี จะถือว่าเป็นการกระทำก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ผลนั้นเกิดแต่งดเว้นการที่จักป้องกันผลนั้นด้วย ตามมาตรา 59 วรรคท้าย

หน้าที่ป้องกันไม่ให้ผลนั้นเกิดขึ้น มีหลายกรณี เช่น

  1. หน้าที่โดยผลของกฎหมาย ได้แก่ บิดามารดาต้องเลี้ยงดูบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 เช่น แม่ไม่ให้บุตรกินนมจนบุตรรอดตาย เป็นต้น

  2. หน้าที่ตามสัญญา ได้แก่ เราทำสัญญาจ้างคนมาเป็นบอดี้การ์ดส่วนตัว เห็นภัยเกิดขึ้นแล้วกลับไม่ทำหน้าที่ช่วยเรา เป็นต้น

  3. หน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆ ของตนเอง เช่น เห็นคนตกน้ำ พอว่ายไปเจอดันรู้ว่าเป็นคู่อริจึงว่ายกลับ หน้าที่นี้เกิดจากการกระทำในตอนแรกที่เข้าไปช่วยแต่ช่วยไม่ตลอด เป็นต้น

  4. หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง คือ ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่มีหน้าที่ตามสัญญา ไม่มีหน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆ แต่อาจมีความสัมพันธ์พิเศษกัน เช่น ชายหญิงที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีหน้าที่ต้องดูแลกัน เป็นต้น (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ตำรา กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป ของ อ.เกียรติขจร วัจนสวัสดิ์ เรื่อง การกระทำ)

กรณีเจอสาวในผับ หรือ สถานที่ใด เกิดตกลงใจชอบพอกันพากันไปต่อที่สถานที่ใดก็ตาม แล้วเกิดเห็นเหตุการณ์ขึ้น ถามว่าคู่กรณีที่พาไป จะมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ผลนั้นเกิดหรือไม่ กรณีนี้ความเห็นส่วนตัวมองว่า น่าจะเข้ากรณีหน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆ ของตนเอง

ตนเองได้พาเขามาถึงห้อง เมื่อพามาควรมีหน้าที่ต้องดูแล ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เปรียบได้กับกรณีว่ายน้ำไปช่วยแล้ว ต้องช่วยตลอดหรือ ขับรถชนคนแล้วคุณต้องมีหน้าที่พาเขาส่งโรงพยาบาล หน้าที่เกิดจากการกระทำครั้งก่อนของตนคือการขับรถชน เป็นต้น

กรณีนี้อาจพอเทียบเคียงกับคดีเรื่องหนี่ง คือ จำเลยได้ขี่มอเตอร์ไซค์แล้วก็คนรักซ้อนท้ายแล้วเกิดอุบัติเหตุ คนรักตกจากรถได้รับอันตรายสาหัสจนหมดสติ จำเลยแทนที่จะช่วยเหลือแต่กลับหนีไป ทิ้งแฟนตัวเองสลบอยู่ถึง 8 วัน และไม่ยอมแจ้งให้มารดาแฟนทราบ เช่นนี้ถือว่าจำเลยมีหน้าที่ช่วยเหลือแฟนดูแลให้รอดชีวิต ถือเป็นหน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนของจำเลยเอง

การกระทำครั้งก่อน คือ พาแฟนมาเที่ยวแล้วเกิดอุบัติเหตุ ถือว่าเกิดหน้าที่ต้องช่วย ต้องดูแล ถ้าไม่ช่วยถือเป็นการงดเว้น คำพิพากษาฎีกาที่ 16412/2555 ตัดสินไว้ว่า จากการกระทำดังกล่าวของจำเลย ถือว่าจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือแฟนตัวเองนั้น อาจทำให้แฟนตัวเองถึงแก่ความตายได้ เมื่อแฟนไม่ตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80 และมาตรา 59 วรรคท้าย ทั้งนี้ รายละเอียดที่เกิดขึ้นก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง