ประโยคสุดท้าย ที่ไม่มีใครรู้ของ "เหม ภูมิภาฑิต" บอกสัญญาณเสี่ยง

Logo Thai PBS
ประโยคสุดท้าย ที่ไม่มีใครรู้ของ "เหม ภูมิภาฑิต" บอกสัญญาณเสี่ยง
โซเชียลร่วมอาลัยกับนักแสดงหนุ่มชื่อดัง "เหม" ภูมิภาฑิต นิตยารส ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าที่เสียชีวิตเมื่อวานนี้(25 ก.ย.) หลังพบมีการให้กำลังใจและสื่อคำพูดให้ข้อคิด "เราไม่รู้เคยรู้ล่วงหน้าว่าประโยคไหนคือประโยคสุดท้าย" ชี้คนไทยเสี่ยงป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน

วันนี้(26 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนายภูมิภาฑิต นิตยารส หรือเหม ดาราชื่อดังเสียชีวิตในวัย 31 ปีที่คอนโดมิเนียมย่านลาดปลาเค้า ซึ่งเบื้องต้นสาเหตุหนึ่งมาจากการป่วยโรคซึมเศร้า โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา นักแสดงหนุ่มเคยโพสต์คลิปทางเฟซบุ๊ก Phoomphadit Nittayaros เป็นข้อคิดเตือนใจให้กับหลายให้พูดดีๆ ต่อกันไว้ หันมาใส่ใจดูแลกัน โดยระบุว่า

เราไม่รู้เคยรู้ล่วงหน้าว่าประโยคไหนคือประโยคสุดท้าย อย่าลืมใส่ใจคนที่คุณรัก

นอกจากนี้ในคลิป ของเหม ยังระบุว่า เราไม่รู้ว่าประโยคไหนที่เราจะได้พูดกันเป็นคำสุดท้าย มันอาจจะเป็นประโยคก่อนเข้านอน แล้วเขาก็ไม่ตื่นอีกเลย หรือประโยคที่เขาออกจากบ้านไป พอเขาปิดประตูรถก็อาจและไม่มีโอกาสได้ขับกลับมาอีกเลย หรืออาจจะเป็นประโยคก่อนวางสายและสายนั้นก็โทรไม่ติด

ชีวิตมันเปราะบาง พูดดีๆกันไว้ดีกว่า เพราะเราไม่รู้ว่ประโยคไหน จะเป็นประโยคสุดท้าย 

การเสียชีวิตของดาราหนุ่มคนนี้ สร้างความเสียใจในวงการบันเทิง มีทั้งกลุ่มดารานักแสดง และหลากหลายวงการที่ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการรู้จักสังเกตคำพูดหรืออาการของคนที่อยู่ใกล้ชิด

โดยกำหนดสวดพระอภิธรรมของนายภูมิภาฑิต จัดขึ้นที่วัดลาดปลาเค้า ศาลา 12 ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.นี้ โดยเวลา 16.00 น.รดน้ำศพ และสวดพระอภิธรรมศพ เวลา 19.00 น. ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ และวันที่  29 ก.ย. ฌาปนกิจศพ 

สำหรับภูมิภาฑิต เป็นนักแสดงในสังกัดของกันตนา เคยร่วมประกวดโครงการสู่ฝันปั้นดาวเมื่อปี พ.ศ. 2550 และชนะเลิศโครงการ Star Search by Kantana Training Center เมื่อปี 2554 มีผลงานละคร เช่น นางฟ้ากับมาเฟีย ปิ่นอนงค์ ทายาทอสูร  รักร้าย  เงินปากผี 

 

คนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน 

ขณะที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าการฆ่าตัวตายมาจากหลายสาเหตุ ประมาณร้อยละ 50 ที่พบว่ามาจากโรคซึมเศร้า คาดว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ได้มอบให้กรมสุขภาพจิต จัดทำโครงการค้นหาผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าในกลุ่มเสี่ยงเพื่อเพิ่มการเข้าถึงและลดความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยล่าสุดมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 55.40

ทั้งนี้ ในปี 2559 ประเทศไทยมีอัตราผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ประมาณการณ์ว่ามีแนวโน้มลดลง ได้ใช้กลยุทธ์การป้องกันการทำร้ายตัวเองซ้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการ จะช่วยลดการฆ่าตัวตายลงได้เฉลี่ย 300–400 คนต่อปี ทั้งนี้ให้หาวิธีการผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ พูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือ แอปพลิเคชันสบายใจ Sabaijai

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เกรซ นรินทร" ชวนเป็นผู้ฟัง สานต่อโครงการเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

“แอดมินทูนหัวของบ่าว” เล่าเรื่องโรคซึมเศร้า ที่คนทั่วไปยังไม่รู้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง