"คมนาคม" เบรกแผน ขสมก.ซื้อรถเมล์ใหม่ - เล็งจ้างเอกชนเดินรถทั้งหมด

เศรษฐกิจ
27 ก.ย. 62
11:15
1,994
Logo Thai PBS
"คมนาคม" เบรกแผน ขสมก.ซื้อรถเมล์ใหม่ - เล็งจ้างเอกชนเดินรถทั้งหมด
คมนาคมให้ ขสมก.กลับไปทบทวนแผนจัดซื้อรถเมล์ใหม่ตามแผนฟื้นฟูฯขสมก.โดยเตรียมจ้างเอกชนเดินรถทั้งหมด คาดสรุปแผนเสนอ รมว.คมนาคมได้สิ้นเดือน ก.ย.นี้

วันนี้ (27 ก.ย.2562) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้ ขสมก.กลับไปทบทวนแผนฟื้นฟูฯ เพื่อลดภาระหนี้ของ ขสมก.โดยข้อสรุปล่าสุด คือการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการจัดจ้างเอกชนมาวิ่งให้บริการแทนเพื่อลดต้นทุนในการซื้อรถ รวมถึงสามารถดำเนินการลดค่าโดยสารให้กับประชาชนได้ในลักษณะการเหมาทั้งวันสามารถใช้บริการกี่เที่ยวก็ได้ 

 

นอกจากนี้หากระบบ อี-ทิกเก็ต แล้วเสร็จและนำมาใช้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งในการเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาวิ่งให้บริการนั้นจะมีการเปิดเป็นโซนเพื่อให้ราคาต้นทุนถูกลงตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมอย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถสรุปเรื่องได้ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ก่อนเสนอให้ รมว.คมนาคม พิจารณาต่อไป

ในอนาคตจะไม่มีการจัดซื้อรถเพราะจะไม่มีรถอีกแล้วแต่จะเปลี่ยนเป็นการเปิดประกวดราคาให้เอกชนเข้ามาวิ่งแทนอย่างเดียว เป็นการจ้างวิ่งเหมือนเกาหลีใต้มีการจ้างให้เอกชนเข้ามาเดินรถให้บริการ เนื่องจากการซื้อรถทำให้ต้นทุนและการบริหารจัดการของ ขสมก.สูงกว่าต้นทุนเอกชนจึงมองว่าจ้างเอกชนแล้วนำส่วนต่างของต้นทุนที่สูงนี้เปลี่ยนเป็นการลดค่าโดยสารให้ประชาชนได้ดีกว่า

สำหรับรถเมล์ใหม่ที่นำมาวิ่งแล้วจำนวน 489 คัน อาจจะต้องทำเงื่อนไขให้เอกชนที่จะเข้ามาเดินรถ ซื้อรถในส่วนนี้ไปด้วยเพื่อให้การบริหารจัดการเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมองว่า ในอนาคตอาจไม่ต้องใช้รถถึง 3,000 คัน มาให้บริการเพราะอาจมีการลดเส้นทางให้สั้นลง การปรับเส้นทางและจัดเส้นทางใหม่ ซึ่งก็ได้มอบหมายให้ ขสมก. กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปจัดทำรายละเอียดมานำเสนอ 

 

ส่วนของประเด็นการเออร์ลี่รีไทร์พนักงาน ได้ให้แนวคิด ขสมก.ไปว่า รายละเอียดเงื่อนไขการประมูลจัดจ้างเดินรถ ควรใส่ในข้อเพิ่มว่าจะให้คะแนนพิเศษหากมีการรับพนักงานขับรถของ ขสมก.ที่เออร์ลี่รีไทร์ก่อนกำหนดเป็นพนักงานขับรถต่อ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้พนักงานที่เออร์ลี่รีไทร์มีงานต่อ และเชื่อว่าคนขับรถนั้นเอกชนจะหาที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญได้ยากมากไม่สามารถให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์มาขับได้ โดยต้องกำหนดเรื่องดังกล่าวในทีโออาร์ด้วย 

 

สำหรับประเด็นที่หากเอกชนเข้ามาวิ่งให้บริการจะต้องมีการติดตั้งระบบ อี-ทิกเก็ต ได้ให้ ขสมก.กลับไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่มองว่า ขสมก.ควรเป็นผู้รับผิดชอบเพราะเป็นผู้เก็บรายได้ จะได้ทราบการทำงาน รวมถึงจ้างค่าจ้างเดินรถให้เอกชน ส่วนรายละเอียดของรถเช่น คุณสมบัติของรถ ระบบภายในตัวรถ ติดตั้งกล้อง CCTV เป็นในส่วนของเอกชนที่จะเข้ามาเดินรถเป็นผู้รับผิดชอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง