ครม.เคาะแผนคุม "ฝุ่นพิษ" แบ่ง 4 ระดับความวิกฤต

สิ่งแวดล้อม
1 ต.ค. 62
18:51
1,362
Logo Thai PBS
ครม.เคาะแผนคุม "ฝุ่นพิษ" แบ่ง  4 ระดับความวิกฤต
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวแผนปฎิบัติการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แบ่งเป็น 4 ระดับความวิกฤต ให้อำนาจระดับหน่วยงาน จนถึงระดับรัฐบาล ล้อมคอกสั่งบังคับรถควันดำตรวจเจอต้องหยุดวิ่ง ควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ เล็งทบทวนกฎหมาย ปรับค่าฝุ่นรอบใหม่ตาม WHO

วันนี้ (1 ต.ค.2562) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดีขึ้น เบื้องต้นจะเน้นดูแลกลุ่ม เด็ก และสตรีมีครรภ์ รวมถึงมีมาตรการเสริมเพิ่มเติม เช่น ลดการใช้ยานพาหนะ ลดการเผา ซึ่งยอมรับว่าบางครั้ง การบังคับใช้กฏหมายเป็นเรื่องยาก อาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงจะเน้นการขอความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อยากละเว้น แต่เมื่อมีผลกระทบประชาชนก็ไม่ยอม จะต้องแก้ปัญหากันต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ และกทม. ขอความร่วมมือประชาชน งดการเผาในพื้นที่โล่งทุกชนิด เพราะไม่อยากใช้กฏหมาย และต้องให้รับผิดชอบร่วมกัน รวมถึงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทดแทนการใช้รถนยต์ส่วนบุคคล ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องยนต์ ท่อไอเสีย รถควันดำจะต้องเข้มงวด

ทุกพื้นที่หากตรวจพบรถควันดำ ต้องงดใช้งานจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไข ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือพื้นที่ก่อสร้าง โรงงานอุตสสาหกรรม ลดการระบายฝุ่น และมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในกทม.-ปริมณฑล ต้องขอลดฝุ่นให้ได้ ต้องให้ฉีดพ่นน้ำช่วงฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)นำเสนอ โดยใช้ตัวชี้วัดจำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น จำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ลดลง โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการ ดังนี้

การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

มาตรการนี้เน้นการควบคุมมลพิษในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง เป็นการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน เพื่อควบคุมพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละออง ได้แก่ 9 จังหวัดภาคเหนือ กทม.และปริมณฑล พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง พื้นที่หน้าพระลาน จ.สระบุรี และพื้นที่เสี่ยงปัญหาฝุ่นละอองอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง เช่น จ.ขอนแก่น กาญจนบุรี

โดยแนวทางการดำเนินงานประกอบด้วย การทบทวน ประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุง แผนเผชิญเหตุ แผนตอบโต้สถานการณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในช่วงเกิดวิกฤตสถานการณ์ โดยใช้กลไกการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีกลไกการสั่งการ ตามปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดังนี้

  • ระดับที่ 1 PM2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินภารกิจตามสภาวะปกติ
  • ระดับที่ 2 PM2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงาน ดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น
  • ระดับที่ 3 PM2.5 มีค่าระหว่าง 76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ
  • ระดับที่ 4 PM2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เสนอให้จัดการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอมาตรการต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ

การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง 

ระยะสั้น (พ.ศ.2562–2564)  

  • ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยใช้มาตรการจูงใจ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาจำหน่ายก่อนกฎหมายบังคับใช้ บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 5 ภายในปี 2564 ควบคุมการนำรถยนต์ที่ใช้แล้ว ในต่างประเทศ เข้ามาในไทย ควบคุมการนำเข้าเครื่องยนต์เก่าใช้แล้ว ทั้งรถและเรือ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศไทยบังคับใช้ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี
  • ปรับปรุงมาตรฐานและวิธีการตรวจวัดการระบายมลพิษจากรถยนต์ ปรับลดอายุรถที่จะเข้ารับการตรวจสภาพรถประจำปีพัฒนา ซื้อทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ศึกษาความเหมาะสมในการจำกัดอายุการใช้งานรถยนต์และระบบการจัดการซากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน
  • ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่งภาคการเกษตร โดยให้มีการใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตรเพื่อไม่ให้มีการเผา ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นอื่นทดแทนพืชเชิงเดี่ยวพืชที่มีการเผาห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งป้องกันการเกิดไฟป่าและจัดการไฟป่า ใช้มาตรการทางสังคมกับผู้ลักลอบเผาป่า
  • ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง โดยกำหนดกฎระเบียบ มาตรการและเกณฑ์ปฏิบัติในการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง กำหนดให้การจัดทำผังเมือง และการก่อสร้างต้องคำนึงถึงการแพร่กระจายของมลพิษ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง 
  • ควบคุมและลดมลพิษจากอุตสาหกรรม โดยกำหนดมาตรฐาน การระบายมลพิษทางอากาศในรูปของอัตราการระบาย (Loading) ตามศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ให้ติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่องที่ปล่องของโรงงานอุตสาหกรรม จำพวก 3 เตาเผาเชื้อเพลิงและหม้อน้ำหรือแหล่งกำเนิดความร้อนที่มีขนาดตามที่กำหนด
  • ควบคุมและลดมลพิษจากภาคครัวเรือน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มและเตาปิ้งย่างปลอดมลพิษ พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาเผาอิฐและถ่านปลอดมลพิษ

ระยะยาว (พ.ศ. 2565 –2567)

  • ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 ภายในปี 2565 บังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุง แก้ไขการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ใช้งาน ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วทุกประเภท ควบคุมการระบายฝุ่นจากการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือและจากเรือสู่เรือ ควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศจาก Non-road Engine
  • ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง โดยให้มีการใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตรเพื่อไม่ให้มีการเผา ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด สำหรับพืชที่มีการเผาให้มีความเข้มงวด ใช้มาตรการหรือกลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการทางสังคม ผลักดัน ให้เกิดแนวทางรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทางการเกษตร ไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้ ร้อยละ 100 ในปี 2565 (มติ ครม.11 มิ.ย.2562)
  • ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง โดยกำหนดกฎระเบียบ มาตรการและเกณฑ์ปฏิบัติในการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง กำหนดให้การจัดทำผังเมืองและการก่อสร้างต้องคำนึงถึงการแพร่กระจายของมลพิษ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง รวมถึงผลักดันการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • ควบคุมและลดมลพิษจากอุตสาหกรรม โดยทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม ปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า
  • ควบคุมและลดมลพิษจากภาคครัวเรือน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มและเตาปิ้งย่างปลอดมลพิษ พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาเผาอิฐและถ่านปลอดมลพิษ


การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษเป็นการพัฒนาระบบ 

  • พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยขยายเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและให้ท้องถิ่นติดตามตรวจสอบในพื้นที่ของตนเอง 
  • ทบทวนปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐานแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ยรายปี ตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และปรับปรุงพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ศึกษาความเหมาะสมเรื่องกฎหมายอากาศสะอาด 
  • ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบ การตรวจวิเคราะห์ และนวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้
  • การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดนและแผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 
  • จัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด
  • พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังที่เป็นหนึ่งเดียว
  • พัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง

ระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567)

  • พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ
  • ทบทวนปรับปรุงกฎหมายมาตรฐานแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยพิจารณาความเหมาะสมการปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตามเป้าหมายที่ 3 ของ WHO
  • ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบ การตรวจวิเคราะห์ และนวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ เช่น เครื่องมือการตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเซนเซอร์ 
  • การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน และข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน
  • กลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ให้มีการจัดตั้งศูนย์ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับจังหวัด โดยใช้กลไกการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการในช่วงเกิดวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง และใช้กลไกของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ออกกฎระเบียบ แนวทาง ข้อบังคับในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง รวมถึงใช้กลไกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกลไกหลักร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฝุ่น PM 2.5 เริ่มกระทบสุขภาพ 22 พื้นที่ "กทม.-ปริมณฑล"

ส่อง "นโยบายกระดาษ" ฝุ่น PM2.5 คลุมเมืองซ้ำ แต่มาตรการไม่คืบ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง