"สมัชชาคนจน" ปักหลักรอรัฐบาลตอบรับนั่งหัวโต๊ะแก้ปัญหา

สังคม
8 ต.ค. 62
16:12
6,961
Logo Thai PBS
"สมัชชาคนจน" ปักหลักรอรัฐบาลตอบรับนั่งหัวโต๊ะแก้ปัญหา
เครือข่ายองค์กรชาวบ้านในนาม “สมัชชาคนจน” ชุมนุมใหญ่ครั้งแรกรอบ 5 ปี เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาของ ปชช. แกนนำชี้ต้องเป็น "จุรินทร์" รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะแก้ปัญหาเท่านั้น เหตุมาจากการเลือกตั้งยึดโยง ปชช. และดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ปชช.มากที่สุด

วันนี้ (8 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล มีความเคลื่อนไหวของกลุ่ม "สมัชชาคนจน" ชุมนุมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล ซึ่งเริ่มการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 

ภาพ : ปัญญา สื่อเสียงคนอีสาน

ภาพ : ปัญญา สื่อเสียงคนอีสาน

ภาพ : ปัญญา สื่อเสียงคนอีสาน


เครือข่ายองค์กรชาวบ้านในนาม “สมัชชาคนจน” เคลื่อนขบวนเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา จากที่ปักหลักพักค้างบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน โดยเดินไปตามเส้นทางรอบทำเนียบรัฐบาล เพื่อสื่อสารกับคนเมืองให้ได้รับรู้ปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐในหลายพื้นที่ ทั้งเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ ปัญหาด้านการเกษตร และแรงงาน

สำหรับสาเหตุการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ พวกเขามองว่า การแก้ไขปัญหาไม่เคยได้รับความจริงใจจากแทบทุกรัฐบาล ในครั้งนี้สิ่งที่เรียกร้อง คือ การขอให้มีกลไกการเจรจากับตัวแทนรัฐบาล โดยเสนอให้มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 13 กระทรวง ร่วมเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกับตัวแทนสมัชชาคนจน แต่กรอบข้อเสนอนี้ไม่เป็นผล ยังไม่มีการเจรจาไม่เกิดขึ้น

ภาพ : ปัญญา สื่อเสียงคนอีสาน

ภาพ : ปัญญา สื่อเสียงคนอีสาน

ภาพ : ปัญญา สื่อเสียงคนอีสาน


ตัวแทนสมัชชาคนจนระบุว่า รัฐบาล อ้างว่ามีกลไกคณะกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชนอยู่แล้ว แต่ทางสมัชชาคนจนปฏิเสธเข้าสู่กลไกนี้ เพราะมองว่า สัดส่วนคณะกรรมการไม่ได้มีตัวแทนชาวบ้านเข้าไปร่วมอย่างแท้จริง พร้อมทั้งเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาค้างคามานาน อาจเนื่องมาจากผลประโยชน์ที่ภาครัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

ต่อมาเวลา 15.50 น. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล โดยปิดถนนราชดำเนินบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ 2 ช่องทางจราจร หลังรัฐบาลยังไม่มีคำตอบตามข้อเรียกร้อง ท่ามกลางการดูแลความเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ


เวลา 16.40 น. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยได้ข้อสรุปตรงกันว่า นายเทวัญ จะรับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องแทน เนื่องจากนายจุรินทร์ มีภารกิจจำนวนมาก ไม่สามารถรับหน้าที่เป็นประธานฯ ได้ ซึ่งหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ จะเข้ามาเจรจากับผู้ที่รับผิดชอบในทุก ๆ ปัญหาข้อเรียกร้องของชาวบ้าน เพื่อให้นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการระดับกระทรวงให้เกิดการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม โดยมีผู้แทนสมัชชาคนจนเข้าไปมีส่วนร่วม พร้อมรับปาก จะนำเรื่องเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาออกคำสั่งแต่งตั้ง ในวันพรุ่งนี้


5 กลุ่มปัญหา 37 กรณี 

สำหรับการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ "สมัชชาคนจน" ยังคงเรียกร้องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐ จำนวน 5 กลุ่มปัญหา 37 กรณี

1.กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ที่ดินของรัฐประเภทอื่น ๆ และกรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

1.1 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ
– ดอนหลักดำ ตำบลบ้านโนน อำเภอซาสูง จังหวัดขอนแก่น
– ตำบลหนองยายโต๊ะ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
– ดงคัดเค้า ตำบลอุ้มเหม้า อำเภอธาตุพนม และตำบลพุ่มแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
1.2 กรณีปัญหาปัญหาที่ราชพัสดุหนองน้ำขุ่น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
1.3 กรณีปัญหาผู้เดือดร้อนจากการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน อำเภอปากน้ำโพ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์
1.4 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองกุง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
1.5 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
1.6 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์กุดทิง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
1.7 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์บะหนองหล่ม ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
1.8 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองเหล็ก ตำบลแคน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์
1.9 กรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
– กรณีปัญหาป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ (บ้านเก้าบาตร) ตำบลลานางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์
1.10 กรณีปัญหาการเตรียมประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ในที่สาธารณประโยชน์กุดทิง ตำบลโนนสมบูรณ์ ตำบลบึงกาฬ ตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

2.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำ

2.1 แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาเขื่อนที่สร้างแล้ว หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย
1) กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร
2) กรณีปัญหาเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี
3) กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี
4) กรณีปัญหาเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ จ.ร้อยเอ็ด และจ.สุรินทร์
5) กรณีปัญหาเขื่อนหัวนา จ. ศรีสะเกษ
2.2 แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาเขื่อนที่ยังไม่สร้าง ประกอบด้วย
1) กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จังหวัดชุมพร
2) กรณีปัญหาเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่

3.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ

3.1 โครงการอุตสาหกรรมบางสะพาน จ.ประจวบคิรีขันธ์
3.2 กรณีปัญหาการเวนคืนที่ดินเพื่อโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน – ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) – ถนนเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

4.แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร

4.1 กรณีปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำของเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคิรีขันธ์

5.แนวทางการเจรจาแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน

5.1 ปัญหานายจ้างใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย
5.2 กรณีปัญหาการเลิกจ้างแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย จำนวน 9 คน ตามคำพิพากษาศาลฎีกา
5.3 ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัท มิกาซ่า อินดัสตรี้ส์ (ไทยแลนด์) จำกัด
5.4 ปัญหาการตรวจพบสารตะกั่วในเลือดพนักงาน บริษัท ไทยหัวเวย แบตเตอรี่ จำกัด สูงกว่าค่าที่กำหนด
5.5 กรณีบริษัท ไอพีบี จำกัด และบริษัท ไทยโควะพรีซีชั่น จำกัด ร่วมกันชดใช่ค่าเสียหายจากการละเมิด และจากการเลิกจ้าง นางสาววิศัลย์ศยา พุ่มเพชรสา ต้องได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานลูกกลิ้งเฉือนนิ้วกลางข้างขวาข้อที่สองเกือบขาดต้องหยุดพักรักษานานกว่า 20 วัน และนิ้วไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
5.6 กรณีปัญหาปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน
1) กรณีบริษัทซี.ที. ปิโตรแอนด์ทรานส์ จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน
2) กรณีบริษัท พี ดับบลิวเค จิวเวลลี่ จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 653 คน
3) กรณีบริษัทโกบอล เซอร์กิต อีเลคทรอนิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 145 คน

ภาพ : ปัญญา สื่อเสียงคนอีสาน

ภาพ : ปัญญา สื่อเสียงคนอีสาน

ภาพ : ปัญญา สื่อเสียงคนอีสาน


23 ปี 11 รัฐบาล ประวัติศาสตร์ "สมัชชาคนจน"

เครือข่ายของชาวบ้านคนยากจนจากชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ระหว่างภาครัฐและธุรกิจกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นทั้งในชนบทและในเมือง นโยบาย และโครงการพัฒนาของรัฐ กฎหมาย ฯลฯ ที่รุกรานวิถีชีวิตปกติ ละเมิดสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น ทำลายวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย

แม้หลายข้อเรียกร้องในครั้งนี้ จะเป็นปัญหาใหม่ แต่ก็มีหลายกรณีที่เรียกร้องมานานกว่า 23 ปี ผ่านมาแล้ว 11 รัฐบาล ที่แม้จะเคยถูกนำขึ้นโต๊ะเจรจา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

ชื่อของ "สมัชชาคนจน" ถูกรู้จักมาตั้งแต่ 10 ธ.ค.2538 ก่อตัวอย่างเป็นทางการในวันสิทธิมนุษยชนสากล สมัยรัฐบาลของ นายบรรหาร ศิลปอาชา และมีการชุมนุมครั้งแรกที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เดือน มี.ค. - เม.ย.2539 ยืดเยื้อนานกว่า 1 เดือน มีผู้เข้าร่วมชุมนุมนับหมื่นคน จาก 21 จังหวัด ใน 5 กลุ่มประเด็นปัญหา คือ 1) กลุ่มปัญหาเขื่อน 13 กรณี 2) กลุ่มปัญหาป่าไม้-ที่ดิน 31 กรณี 3) กลุ่มปัญหาจากโครงการของรัฐ 4 กรณี 4) กลุ่มปัญหาผู้ป่วยจากการทำงาน 1 กรณี และ 5) กลุ่มปัญหาชุมชนแออัด 7 กรณี ทั้งหมดรวม 56 กรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีปัญหาในพื้นที่ภาคอีสาน

ถือเป็นจุดเริ่มต้น ของ “การเมืองบนท้องถนน” กลายเป็นวิธีการเคลื่อนขบวนของภาคประชาชนในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิจนถึงทุกวันนี้


การชุมนุมอีกครั้ง ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนครั้งสำคัญ คือ การชุมนุม 99 วัน ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ช่วงต้นปี 2540 การชุมนุมที่ยืดเยื้อถึง 99 วัน มีกรณีปัญหาเพิ่มขึ้นเป็น 125 ปัญหา และขยายพื้นที่ปัญหาออกไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 35 จังหวัด ได้ข้อตกลงร่วมจากการเจรจาเป็นมติ ครม.ทุกกรณี

กระทั่งสิ้นสุดรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ในเดือน พ.ย.2540 คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นได้ประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแก้ไขปัญหาได้จนบรรลุผล 18 กรณี ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ


กระทั่งปี 2541 มีข้อมูลว่ารัฐบาลของ นายชวน หลีกภัย ไม่ได้ทำตามข้อตกลงที่สมัชชาคนจนทำไว้กับรัฐบาลก่อน เช่น รัฐบาลประกาศไม่รับร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ที่ผ่านการร่างร่วมกัน หรือ อนุมัติงบประมาณการออกแบบการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เป็นต้น สมัชชาคนจนจึงตัดสินใจจัดการชุมนุมย่อยเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาขึ้นในเดือน เม.ย. - พ.ค.2541


1 ปีแรกของรัฐบาลชวน 2 สามารถแก้ปัญหาได้ผลจนยุติ 6 กรณี มีมติ ครม.เกี่ยวกับสมัชชาคนจน 6 มติ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงเดิม 5 มติ และดำเนินตามข้อตกลงเดิม 1 มติ คือ มติ ครม.วันที่ 16 มิ.ย.2541 เรื่องอนุมัติงบประมาณโครงการใต้สะพานเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในเมือง เมื่อท่าทีของรัฐบาลไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา สมัชชาคนจนจึงประกาศยุติการเจรจา และเริ่มใช้ “ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย” ในการเคลื่อนไหว


การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา ดำเนินมาจนถึงช่วงปลายรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ต้นปี 2549 ท่ามกลางกระแสการขับไล่นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง สมัชชาคนจน ยืนยันชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของตนเอง ใน 3 เป้าหมาย คือ 1) เปิดโปงการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา 2) เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา 3) ผลักดันเรื่องการปฏิรูปการเมืองเพื่อคนจน โดยสมัชชาคนจนปฏิเสธการร่วมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” 

แต่ยังไม่ทันได้ข้อตกลงเป็นรูปธรรม เกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 หลังจากนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองก็ถูกให้ความสำคัญมากกว่าปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน

การเคลื่อนไหวในนามสมัชชาคนจนได้เงียบหายไป หลังการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. หลังปี 2557 เป็นนัยของการต่อต้านรัฐประหาร

ขณะที่ สมาชิกสมัชชาคนจนบางกลุ่ม ได้แยกตัวออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการแก้ไขปัญหาภายใต้ชื่อใหม่ การกลับมาปรากฏตัวของสมัชชาคนจนในครั้งนี้ อาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่า หลังได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งประชาชนกลุ่มนี้จะกลับเข้าสู่เส้นทางการเมืองบนท้องถนนอีกครั้ง แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้พลาดไม่ได้ที่ต้องจับตาดูบทบาทของทุกฝ่ายในการเจรจาต่อรอง และความจริงจังในการแก้ไขปัญหาของคนจนที่ยืดเยื้อยาวนาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รำลึก "วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์" 10 ปี ที่จากไป

สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล เดินทางเข้า กทม.ทวงคำตอบแต่งตั้ง กก.ดูแลในพื้นที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง