"หมอเดว" แนะ บ้าน-ร.ร.-ชุมชน เร่งสร้างภูมิ ลดเด็กพันธุ์ใหม่

สังคม
19 ธ.ค. 62
11:30
1,387
Logo Thai PBS
"หมอเดว" แนะ บ้าน-ร.ร.-ชุมชน เร่งสร้างภูมิ ลดเด็กพันธุ์ใหม่
เด็กสายพันธุ์ใหม่ ลอกเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว ขาดความเอื้ออาทร "นพ.สุริยเดว" แนะครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันลดเด็กเข้าสู่ความเสี่ยงในเรื่องความรุนแรง

วันนี้ (19 ธ.ค.2562) จากกรณีเด็กมัธยมยิงเพื่อนร่วมชั้นเรียนเสียชีวิต รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว สะท้อนความรุนแรงในเด็กและเยาวชนว่ามีสาเหตุมาจากการบกพร่องในด้าน 1.การรู้จักการบริหารจัดการอารมณ์ของตนเอง 2.การแก้ข้อขัดแย้งในตนเองด้วยสติและสันติวิธีเมื่อเผชิญเหตุ 3.การไม่มีเบ้าหลอม (Role model) ที่จะเป็นแบบอย่างให้เลียนแบบในบ้านและในโรงเรียน และ 4.จิตสำนึกซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิตในสังคมที่ตนเองอาศัยเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิตไม่ใช่แค่กิจกรรมกิจวัตรเท่านั้น

ทุกวันนี้ความรุนแรงไม่ว่าจะพบทางโลกจริงในสังคมจริงๆ รวมทั้งในโลกไซเบอร์ หลากหลายรูปแบบที่ทำให้เด็กและเยาวชนจมอยู่ในโลกความรุนแรง ก่อให้เกิด เด็กสายพันธุ์ใหม่ 4 รูปแบบ

1. เด็กที่ลอกเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive) แรงมาแรงไป

2. เด็กที่หวาดระแวงต่อสังคม ขาดความมั่นใจ ซึมเศร้า จนอาจทำร้ายตนเอง ( Social Phobia)

3. เด็กที่มองความรุนแรงเป็นภาวะปกติ และ ชอบสนุกกับการได้แกล้งเพื่อนในรูปแบบต่างๆนานา เป็นพฤตินิสัย ( Conduct )

4. เด็กที่ขาดจิตสำนึก ขาดความเอื้ออาทร ทำได้แม้เป็นคนที่ใกล้ชิด หรือสถานที่ที่ไม่ควรกระทำความรุนแรง

ทั้ง 4 ประเภทมีความน่ากลัวทั้งสิ้น แต่โปรดระลึกว่าเด็กวัยรุ่นมีฮอร์โมนเพศที่หลั่งออกมาจะทำให้สมองส่วนอารมณ์ปะทุ อ่อนไหว สวิง แรงมากเป็นทุนเดิม หากไม่มีการฝึกสติฝึกการจัดการอารมณ์ตนเอง บวกกับระบบนิเวศบ้านชุมชน โรงเรียน โดยเฉพาะในบ้าน ล้วนใช้ความรุนแรงในการจัดการ ใช้อารมณ์ ย่อมเป็นจุดกำเนิดเด็กสายพันธ์ุใหม่นี้แทบทั้งสิ้น

สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรง 

ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว บอกถึงการบริหารจัดการความรุนแรง ว่า เริ่มต้นได้จาก บ้าน ที่สมาชิกต้องเป็นแบบอย่างในการไม่ใช้ความรุนแรงรู้จักบริหารจัดการ อารมณ์ ฝึกให้ลูกด้วยการทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ไม่เสพสื่อที่ใช้ความรุนแรง การใช้เทคโนโลยีตามความเหมาะสมและสร้างสรรค์ พอลูกโตผู้ใหญ่ต้องรับฟังให้มากพูดให้น้อยลง ใช้ 3 คำถามของหมอเดว (รู้สึกอย่างไร คิดอะไร และจะแก้อย่างไร) เพื่อเหลาความคิดลูกและได้คุย ฟังสมาชิกให้มาก หากพบเห็นสิ่งพฤติกรรมที่มีปัญหารีบปรึกษาแพทยแต่เนิ่นๆ

เช่นเดียวกับ โรงเรียน ควรมีระบบเฝ้าระวังดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทั้งในระดับ เพื่อน ช่วยเพื่อน ครูช่วยลูกศิษย์ดึงเด็กที่พลังเยอะมาแยกคุย เพื่อหาจุดบวกของเขาในการนำทีม set ระบบ "Anti bullying program" และเขาเป็นผู้ที่จะช่วยเป็นหูเป็นตา และได้รับการชื่นชมฝึกหัดทักษะ ครู ให้ไม่ใช้วาจาที่ประชด เหน็บแนม หยอกล้อ ซึ่งก็เป็นจุดตั้งต้นที่เพื่อนจะถูกล้อจนเกิดอาการฝังจิตฝังใจมากขึ้นได้การฝึกทักษะชีวิต และวิชาชีวิตในรั้วโรงเรียน ผ่านกรณีศึกษาการใช้ 3 คำถามสะท้อนความรู้สึกจากเด็กจะทำให้ระบบเฝ้าระวังแข็งแรงยิ่งขึ้น

ขณะที่ สมาคมผู้ปกครองและครู กรรมการสถานศึกษา นอกจากจะวิ่งหางบประมาณหรือบริหารน่าจะพัฒนาห้องเรียนพ่อแม่ โดยใช้กรณีศึกษามาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงลูกแบบสร้างสรรค์

และ ชุมชน ต้องพัฒนาพื้นที่แห่งการระบายอารมณ์ด้วยสันติ และการเพิ่มกิจกรรมชุมชนแบบง่ายๆ สบาย แต่ต่อเนื่องจนเด็กในชุมชนรู้สึกมีความหวังความรู้สึกที่ดีต่อการอยู่ร่วมกัน สุดท้ายผู้ใหญ่ต้องเก็บอาวุธหรืออุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายๆ เสี่ยงต่อชีวิตให้มิดชิด

หากวางระบบมาต่อเนื่อง วัยรุ่นก็จะเป็นวัยรุ่นที่พร้อม ปล่อยพลังมาสร้างสรรค์ มากกว่าการทำลาย

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า หากอยากเห็นเด็กสายพันธ์พลังบวกต้องช่วยกันตั้งแต่เพื่อน ครู พ่อแม่ พี่น้องในชุมชน ดำเนินชีวิตด้วยสติจัดการอารมณ์ตนเองได้ และไม่ก่อความรุนแรงให้เด็กเห็นและสื่อที่ปลอดภัยสร้างสรรค์

หวังว่าสิ่งนี้น่าจะช่วยกันสร้างระบบ AntiBullyingProgram ทั้งในชุมชน โรงเรียน ขึ้นมาก่อนที่จะคร่าชีวิตเด็ก เสียทั้งเด็กที่ถูกกระทำและเด็กที่ไปกระทำเขา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.ส่งทีมดูแลนักเรียน-ผู้ปกครองกรณียิงในโรงเรียน

ครูฝ่ายปกครองระบุ นร.ยิงเพื่อนเลียนแบบเกม หลังถูกบูลลี่หนัก

นักเรียน ม.1 ยิงเพื่อนเสียชีวิตในโรงเรียน ปมถูกกลั่นแกล้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง