กษ.รับมือภัยแล้งเร่งด่วน เหตุเสี่ยงแล้งหนักนาน 6 เดือน

ภัยพิบัติ
6 ม.ค. 63
07:21
4,466
Logo Thai PBS
กษ.รับมือภัยแล้งเร่งด่วน เหตุเสี่ยงแล้งหนักนาน 6 เดือน
สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดแถลงข่าวการรับมือปัญหาภัยแล้งในปี 2563 ว่ามีการสั่งการด่วนให้กรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำ หลังปัญหาภัยแล้งรอบนี้คาดว่าจะนาน 6 เดือน พร้อมแผนดูแลทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงแผนรับมือภัยแล้ง หลังพบว่าไม่มีปริมาณน้ำเติมในแหล่งน้ำตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 ทำให้คาดการณ์ว่าภาวะแล้งจะยาวนานไปจนถึงเดือน พ.ค.2563 หรือประมาณ 6 เดือน จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562/63 ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2562 - 30 เม.ย.2563 มีน้ำจัดสรรให้ 17,699 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นอุปโภค-บริโภค 2,300 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,006 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 หรือช่วง พ.ค. - ก.ค.2563 รวม 10,540 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรฤดูแล้ง 7,874 ล้านลูกบาศก์เมตร และอุตสาหกรรม 519 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

นอกจากนี้ยังแจ้งเตือนไปยังเกษตรกรรับทราบสถานการณ์น้ำต้นทุน แนวทางการบริหารจัดการน้ำ และให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะใน 22 จังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ไม่มีแผนการเพาะปลูก เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ แต่จากการสำรวจพบว่า มีบางพื้นที่ได้ทำการปลูกพืชนอกแผน 1,540,000 ไร่ ซึ่งบางส่วนมีการสำรองน้ำไว้บ้างแล้ว

เราคาดการณ์ไว้แล้วว่าปีนี้ หลังจากเดือน พ.ย.62 จะไม่มีฝนเข้าสู่แหล่งกักเก็บน้ำ ก็มีมาตรการแจ้งเตือนพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่ไหนสามารถปลูกพืชใช้น้ำได้ หรือไม่สามารถใช้น้ำได้มาก และมาตรการเสริมเรื่องการจ้างงานทดแทน การสร้างอาชีพใหม่ และส่วนที่ทำได้อย่างการลดต้นทุนไปเพิ่มคุณค่าผลผลิตให้กับเกษตรกร

 

นายเฉลิมชัย ยังระบุว่า ให้กรมชลประทานขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 40,000 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำ บรรเทาความแห้งแล้ง รวมถึงยังมีแผนก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ และแก้มลิงรวม 421 โครงการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานและเพิ่มการเก็บกัก พร้อมเตรียมปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืช ป่าไม้และเพิ่มน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำด้วย

 

ขณะที่นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า ได้เตรียมวงเงิน 3,100 ล้านบาท เพื่อจ้างแรงงานทั่วทุกภาคไม่น้อยกว่า 41,000 คน ระยะเวลา 3-7 เดือน เกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-58,000 บาทต่อคน เพื่อชดเชยช่วงเกิดปัญหาภัยแล้งไม่สามารถปลูกพืชได้ โดยตั้งเป้าจะสร้างรายได้ภายใน 4 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง