ตรวจสอบ อปท.แจกหน้ากากผ้าบาง

ภูมิภาค
4 เม.ย. 63
13:45
598
Logo Thai PBS
ตรวจสอบ อปท.แจกหน้ากากผ้าบาง
เจ้าหน้าที่ ปปท.เขต 4 ตรวจสอบการทำหน้ากากผ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง ใน อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ หลังประชาชนร้องเรียนว่าแจกหน้ากากผ้าบางไม่ได้มาตรฐาน อาจเข้าข่ายใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า และจัดซื้อผ้าแพงเกินจริง ขณะที่เทศบาลฯเร่งจำทำหน้ากากผ้าแจกใหม่

สภาพหน้ากากผ้าที่บางจนมองทะลุได้ ชิ้นนี้ นางสมคิด วรรณหอม ชาวบ้านโพนสวรรค์ ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ได้รับแจกจาก อสม. เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เธอไม่กล้าสวมใส่ เพราะเชื่อว่า หน้ากากที่บางไม่สามารถป้องกันเชื้อโรค ละอองฝอยจากการไอและจาม และแม้กระทั่งฝุ่นควัน

เธอบอกว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 เจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ปปท.เขต 4 เข้าตรวจสอบการแจกหน้ากากผ้าให้กับชาวบ้านในตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ เนื่องจากเป็นโครงการของเทศบาลตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ ซึ่งอาจเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า

ภายหลังการตรวจสอบเพียง 1 วัน เทศบาลตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ ซึ่งชี้แจงว่าอยู่ระหว่างจัดทำโครงการ ได้นำหน้ากากมาแจกใหม่ ซึ่งหนากว่าแบบแรกมาแจกชาวบ้านทันทีแต่เจ้าหน้าที่ ปปท.ยังคงตรวจสอบกรณี การจัดซื้อผ้าเพื่อนำมาทำหน้ากากผ้าก่อนหน้านี้ อาจเป็นการจัดซื้อที่แพงเกินจริง

การไม่รู้ว่าหน้ากากผ้าที่ได้รับจาก มาจากการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ ทำให้ชาวบ้านหลายคนยอมรับมาใช้โดยไม่กล้าร้องเรียน
เขาให้ฟรี ก็ใช้ๆไป ดีกว่าไม่มีใช้

แต่สำหรับ เจ้าหน้าที่ ปปท. กลับมองว่า ภาครัฐต้องกระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัว มีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการของภาครัฐ เนื่องจากทาง ปปท.ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน

นางดอกไม้ จ้องสละ อสม.บ้านดอนจันทร์ ตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ เธอได้เข้าอบรมทำหน้ากากผ้ากับทางเทศบาลตำบลกุดสิม และนำมาแจกชาวบ้าน ก่อนถูกร้องเรียนว่าหน้ากากบาง เธอมองว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ร้องเรียนเรื่องหน้ากากบาง นำไปสู่การแก้ไขของเทศบาลฯ ที่ทันท่วงที โดยสั่งให้ทำหน้ากากแบบใหม่แจก

หลังมีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และปัญาหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย รัฐบาลอนุมัติงบประมาณจำนวน 225 ล้านบาท ในการดำเนินงานโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา  งบประมาณส่วนนี้จะกระจายไปตามเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 7,774 แห่ง ใน 76 จังหวัด

โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อการผลิตหน้ากากผ้าให้เป็นอีกทางเลือกแทนหน้ากากอนามัย มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ประชาชนผู้ผ่านการอบรมจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้ผลิต เป้าหมายการผลิต 50 ล้านชิ้น มีต้นทุนชิ้นละ 4 บาท 50 สตางค์แจกจ่ายกับประชาชนทั่วไปฟรี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม2563

โครงการนี้ถูกกำหนดโดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นโดย แต่ละ อปท.มีหน้าที่ดำเนินตามคำสั่งและระเบียบข้อบังคับ แต่คำสั่งที่ให้มีการจัดอบรมทำหน้ากากผ้าก่อนวันที่ 17 มีนาคม ผู้บริหารเทศบาลตำบลกุดสิมคุ้ม อำเภอเขาวง มองว่า เป็นโครงการที่เร่งด่วน ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดดำเนินการจนเกิดความผิดพลาด

นายวิชัย กว้างสวาสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดสิม ระบุว่า เจ้าหน้าที่พยายามอบรมทำหน้ากากผ้าตามรูปแบบที่กำหนด ให้ใช้ผ้าสาลู แต่มีปัญหาในการจัดซื้อผ้าในพื้นที่อำเภอห่างไกลตัวจังหวัด หาซื้อผ้าเกรดดีได้ยาก จึงจำเป็นต้องนำผ้าที่หาซื้อได้มาทำหน้ากากผ้าให้แล้วเสร็จตามกำหนด แต่เมื่อพบว่าได้หน้ากากที่บาง จึงสั่งแก้ไข และให้ใช้งบประมาณของเทศบาลทำหน้ากากผ้าแบบใหม่ที่หนาและได้มาตรฐานแจกชาวบ้านทุกคน

ข้อมูลจาก ปปท.เขต 4 เน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการอนุมัติใช้งบกลางของรัฐบาล ในภาวะการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาจมีการอนุมัติโครงการลักษณะนี้อีก จำเป็นที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ และฝ่ายปกครอง ต้องชี้แจงประชาชนถึงที่มาโครงการ ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดิน

เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ และคุณภาพของสิ่งของที่ถูกนำมาแจกจ่าย ซึ่งหากพบความผิดปกติ ขอให้ส่งเรื่องร้องเรียนมายัง ปปท. เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบ เพื่อป้องปรามการทุจริต ส่วนกรณีของ 2 อปท. ในอำเภอเขาวง คือ เทศบาลตำบลกุดสิม และเทศบาลตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ เจ้าหน้าที่ ปปท.เขต 4 อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินคดีได้หรือไม่ 

และยังคงเดินหน้าตรวจสอบ อปท. อื่นๆ หลังมีเรื่องร้องเรียนต่อเนื่อง ล่าสุด คือ ก็พบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลเจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ แจกหน้ากากผ้าที่บางเช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง