THE EXIT : พลิกฟื้นป่าพรุเกาะนางคำ จ.พัทลุง

สิ่งแวดล้อม
10 ส.ค. 63
19:02
4,732
Logo Thai PBS
THE EXIT : พลิกฟื้นป่าพรุเกาะนางคำ จ.พัทลุง
ป่าพรุเกาะนางคำ ยังคงมีสภาพไม่แตกต่างจาก 4 ปีก่อน หลังยึดคืนพื้นที่ แต่การเอาผิดกับคนที่ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ จนทำให้เอกชนเข้าไปทำลายป่าจนเสื่อมโทรมยังไม่คืบ สำนวนถูกส่งไปถึงอัยการ แต่ผู้ต้องหาใช้ช่องทางขอความเป็นธรรม ทำให้คดียังไม่คืบ ติดตามใน THE EXIT

วันนี้ (10 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป่าพรุจำนวนหลายร้อยไร่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา ในพื้นที่ ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ซึ่งได้รับความเสียหายจากการขุดยกร่อง เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน เมื่อเดือน เม.ย.2559 ของบริษัท ปาล์มไทยพัฒนา ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง พืชพันธุ์ โดยเฉพาะต้นเสม็ดขาวเจริญเติบโตขึ้นมาไม่มากนัก พื้นดินส่วนใหญ่ยังคงโล่งเตียน และที่สำคัญ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาพถ่ายสภาพที่ดิน ซึ่งถูกขุดยกร่อง เมื่อ 4 ปีก่อน พบว่าพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ยังมีร่องรอยความเสียหายจากบุกรุกทำลายอย่างชัดเจน กายภาพของร่องคูน้ำแทบไม่เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

 

 

 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา ได้ลงพื้นที่ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อเก็บข้อมูลติดตามการฟื้นตัวของป่าพรุ หลังจากกรมที่ดินได้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน นส.3 ก.จำนวน 23 แปลง เนื้อที่รวม 920 ไร่ จากการครอบครองของบริษัท ปาล์มไทยพัฒนา ให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ หลังพบว่าที่มาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ ระบุว่า หลังไม่ถูกรบกวนจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ป่าเสม็ดขาวบางส่วนได้เริ่มเจริญเติบโตขึ้นได้บ้างแล้ว

กำหนดแนวทางฟื้นฟูผืนป่า 920 ไร่

ในบางจุดที่ต้นเสม็ดขาวเริ่มฟื้นตัว ซึ่งแม้จะเป็นพื้นที่ไม่มากนัก แต่เริ่มคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่า ชาวบ้านสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ เพื่อตัดไม้ไปไปใช้สอยในครัวเรือน รวมถึงเก็บน้ำผึ้งป่า หลังจากผึ้งมาทำรังมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ด้านผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลาได้ประชุมร่วมกับชาวบ้าน เพื่อกำหนดแนวทางดูแลฟื้นฟูผืนป่ารวม 920 ไร่ ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเบื้องต้นได้มีการตั้งคณะกรรมการดูแลผืนป่าของชุมชน เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่

 

 

 

ในปี 2559 บริษัท ปาล์มไทยพัฒนา ได้นำเครื่องจักรเข้าขุดยกร่องที่ดินป่าพรุ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันสร้างเสียหายต่อพื้นที่ป่าพรุกว่า 400 ไร่ จากพื้นที่ ซึ่งอ้างการครอบครองรวม 920 ไร่ แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่ได้ทักท้วงแล้วว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบที่มาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน จนนำไปสู่การจับกุมการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ พร้อมส่งดำเนินคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง

สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องกว่า 20 ปาก

พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรเกาะนางคำ ให้ข้อมูลว่า ได้มีการสอบปากคำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีไปแล้วกว่า 20 ปาก พร้อมส่งสำนวนหลักฐานไปให้อัยการ เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ในขณะที่อัยการจังหวัดพัทลุง ระบุว่า คดีดังกล่าวอยู่ในการดูแลของอัยการภาค 9 หลังจากผู้ต้องหาได้ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีอัยการภาค 9 ซึ่งเวลาที่ล่วงเลยมาเกือบ 5 ปี

อดีต ส.ส.พัทลุง ทวงถามคืบหน้าคดี

ทั้งนี้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.พัทลุง หลายสมัย ออกมาทวงถามความคืบหน้าคดีกับทางตำรวจและอัยการ เนื่องจากเกรงว่าคดีอาจจะหมดอายุความ จนสร้างความกังขาต่อกระบวนการยุติธรรม

 

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

 

 

ส่วนความเสียหายต่อพื้นที่ป่าพรุกว่า 400 ไร่ ทางเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลาได้ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายไร่ละเกือบ 80,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งนายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ป่าพรุที่ถูกขุดทำลายจะใช้เวลาในการฟื้นตัวเข้าสู่สภาพเดิมต้องใช้เวลานานมากถึง 90 ปี

ป่าพรุถูกขุดยกร่องปลูกปาล์มน้ำมัน

จากการตรวจสอบของทีมข่าวไทยพีบีเอส พบว่านอกจากการขุดยกร่อง เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันของเอกชนรายใหญ่แล้ว ล่าสุด ที่ดินป่าพรุ ซึ่งอยู่ในการครอบครองของชาวบ้านใน ต.เกาะนางคำ ก็มีการขุดยกร่อง เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันจนสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ป่าพรุอีกหลายร้อยไร่

 

 

นายเชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์

นายเชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์

นายเชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์

นายเชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศป่าไม้ มหาวิทยาลัยทักษิณ ระบุว่า ป่าพรุมีคุณค่าทางระบบนิเวศสูงมาก แต่ประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้ในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ส่งผลให้มีการทำลายป่าพรุ เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนส่งผลกระทบทั้งต่อสภาพแวดล้อมและผู้คน ซึ่งต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของป่าพรุเป็นฐานทรัพยากรในการดำรงชีวิต

ป่าพรุกักเก็บคาร์บอนมากกว่าป่าอื่น

ผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศป่าไม้ ระบุเพิ่มเติมว่า ป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์ให้นิเวศบริการหรือมีคุณค่าต่อสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์เป็นอย่างมาก อาทิ เป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต ควบคุมความสมดุลของระบบนิเวศ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์อนุบาลสัตว์ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าพื้นที่ป่าประเภทอื่นถึง 7 เท่า แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลับต้องสูญเสียป่าพรุในพื้นที่เชื่อมต่อของ จ.พัทลุง สงขลา และ จ.นครศรีธรรมราช ไปมากกว่า 60,000 ไร่

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง