เกษตรฯยื่นครม.กู้วิกฤตนาข้าว 3.4 ล้านไร่ ทส.เตรียมขอ 51 ล้านขุดบาดาล 268 แห่ง

สิ่งแวดล้อม
23 มิ.ย. 58
12:43
132
Logo Thai PBS
เกษตรฯยื่นครม.กู้วิกฤตนาข้าว 3.4 ล้านไร่ ทส.เตรียมขอ 51 ล้านขุดบาดาล 268 แห่ง

ทส.เตรียมเสนอครม.เศรษฐกิจพรุ่งนี้ ขอ 51 ล้านบาท ขุดบ่อบาดาล 268 แห่ง แก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้ง ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอแผนแก้ปัญหาภายแล้ง ทั้งระยะเร่งด่วน และ ระยะยาว ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งยังคงรุนแรงในหลายพื้นที่ ได้ส่งผลกระทบกับประชาชน ที่ต้องใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตร

วันนี้ (23 มิ.ย.2558) นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ว่า จะมีการเสนอมาตรการระยะสั้น โดยจะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีแล้ว 3,440,000 ไร่ และผู้ที่ยังไม่ปลูกอีก 1 ล้านไร่ ส่วนระยะยาว จะปรับโครงสร้างระบบชลประทาน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการใช้ของภาคเกษตร เพราะขณะนี้ระบบสำรองน้ำไว้ใช้ ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ รวมทั้งเจรจาผันน้ำจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินจากประเทศเมียนมา มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างเจรจา

ขณะที่พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามถึงพื้นที่ที่จะเจาะบ่อบาดาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันปรับแผนแก้ปัญหาจากเดิมที่มีเฉพาะแผนขุดเจาะบ่อบาดาลในหมู่บ้านแล้งซ้ำซากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ให้เพิ่มในพื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำ เบื้องต้นคาดการณ์จะใช้งบประมาณ 51 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ โดยวันพรุ่งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ขออนุมัติงบประมาณกลางปี 2558 เร่งด่วน สำหรับขุดเจาะน้ำบาดาล ในพื้นที่ภัยแล้งจำนวน 268 แห่ง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ดาว์พงษ์ระบุว่า น้ำบาดาลไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือน้ำจากเขื่อน ส่วนปัญหาการจัดสรรน้ำของเกษตรกร เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องสร้างความเข้าใจ โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไปตรวจสอบว่า เกิดปัญหาตรงจุดใดบ้าง เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดต่างๆ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี ที่ลดระดับต่อเนื่อง ทำให้ชาวชุมชนเรือนแพ ต้องถอยแพออกไปกลางลำน้ำ เพื่อไม่ให้ลูกบวบแพ ติดค้างบนเนินดิน อาจสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างเรือนแพ

ขณะที่นาข้าวกว่า 30,000 ไร่ ในต.ท่าเรือ และต.เกาะโพธิ์ อ.ปากพลี จ.นครนายก ขาดน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่เพิ่งปลูก คาดว่าหากฝนยังคงทิ้งช่วง 1 สัปดาห์ จะทำให้ข้าวบางส่วนเสียหาย

ที่อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร แหล่งปลูกกล้วยน้ำว้าเริ่มได้รับผลกระทบจากฝนที่ทิ้งช่วง และชลประทานหยุดจ่ายน้ำ ไม่ต่างจากพื้นที่เกษตรกรรมในจ.กำแพงเพชร ที่ประเมินว่า หาก 10 วันจากนี้ฝนไม่ตก ผลผลิตจะเสียหายกว่า 100,000 ไร่

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ล่าสุด ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 ระบุว่า ปริมาณน้ำเหลือเพียง 59 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตประปาใน 5 อำเภอ รวมทั้งในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาด้วย เช่นเดียวกับจ.ศรีสะเกษ ชลประทานจังหวัด งดปล่อยน้ำจากเขื่อนราษีไศลแล้ว เพื่อรักษาตัวเขื่อนหลังมีปริมาณน้ำเหลือไม่มาก พร้อมห้ามไม่ให้เกษตรกรสูบน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร อย่างเด็ดขาด

และที่หนองบัวลำภู ยโสธร และอุดรธานี ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ผู้จัดการ การประปาส่วนภูมิภาคจ.หนองบัวลำภู ระบุว่า หากไม่มีฝนตกลงมา แหล่งน้ำดิบ จะมีน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง