"จิสด้า" ไขคำตอบน้ำป่าเขาใหญ่ท่วม "ปากช่อง"

Logo Thai PBS
"จิสด้า" ไขคำตอบน้ำป่าเขาใหญ่ท่วม "ปากช่อง"
จิสด้า ระบุปัญหาน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ผลจากลักษณะภูมิประเทศ และฝนตกหนัก 80.6 มิลลิเมตร ทำให้บ้านเรือนใกล้บริเวณตีนเขาได้รับผลกระทบโดยตรง

วานนี้ (11 ต.ค.2563) เพจเฟซบุ๊ก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ระบุว่า จากกรณีที่เกิดฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมีปริมาณน้ำฝนของวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา สูงถึง 80.6 มิลลิเมตร จนทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ทับถนน

โดยเฉพาะหมู่บ้านในต.หมูสี เข้าท่วมบ้านเรือน และสถานประกอบการต่างๆอย่างรวดเร็วจนได้รับความเสียหายแล้วกว่า 80 หลังคาเรือน ซึ่งครั้งนี้หนักกว่าหลายครั้งที่ผ่านมาและมีผลกระทบต่อประชาชนพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตร และพื้นที่เศรษฐกิจ

GISTDA ได้ทำการจำลองภาพสามมิติจากภาพดาวเทียม Landsat-8 ซ้อนทับกับข้อมูลแบบจำลองระดับความสูงภูมิประเทศ (DEM) ทำให้เห็นภาพลักษณะภูมิประเทศที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งด้านบนของภาพเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเนื้อที่ปกคลุม 2,216 ตารางกิโลเมตร

ชี้เป็นเทือกเขาสูง-น้ำป่าหลากเข้าท่วม 

โดยเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีระดับความสูงแตกต่างกันตั้งแต่ระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวอยู่ใกล้บริเวณตีนเขาของอุทยานทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรง

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารที่สำคัญหลายสาย หนึ่งในนี้คือ ห้วยลำตะคอง และห้วยลำพระเพลิง อยู่ในพื้นที่ทางทิศเหนือ ไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช ไปบรรจบกับแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนล่างไหลลงสู่แม่น้ำโขง

ห้วยมวกเหล็ก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปีและให้ประโยชน์ทางด้านการ เกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่อ.มวกเหล็ก ซึ่งในครั้งนี้ ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องติดต่อกันมาจึงทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้จึงเกิดน้ำป่าไหลหลากจากภูเขาลงสู่ลำตะคองล้นตลิ่งและเข้าท่วมบ้านเรือนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม GISTDA ได้วางแผนรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อติดตามพื้นที่น้ำท่วมขังมากกว่า 24 ชั่วโมง ด้วยภาพดาวเทียมระบบเรดาร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำส่งข้อมูลให้กับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่เพื่อได้ใช้วางแนวทางในการบริหารจัดการ ช่วยเหลือ และฟื้นฟูพื้นที่เสียหายหรือได้รับผลกระทบต่อไป สามารถติดตาม สถานการณ์พื้นที่น้ำท่วมขังจากดาวเทียม ได้ที่ flood.gistda.or.th

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

น้ำไหลหลากท่วมบ้านกว่า 50 หลังคาเรือน จ.นครราชสีมา

น้ำท่วม อ.ปากช่อง คลี่คลาย แต่ต้องระวังพายุ

กรมชลประทานยัน "เขื่อนลำพระเพลิง" รับน้ำได้ไม่กระทบท้ายเขื่อน

 เตือน! "ปักธงชัย"เสี่ยง ลำพระเพลิงระบายน้ำเพิ่มท้ายเขื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง