กัญชา และกัญชง ปลุกกระแสความหวัง พลิกฟื้นเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่

ภูมิภาค
24 มิ.ย. 64
15:48
1,634
Logo Thai PBS
กัญชา และกัญชง ปลุกกระแสความหวัง พลิกฟื้นเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่
กัญชา และกัญชง ปลุกกระแสความหวัง พลิกฟื้นเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่ นักวิชาการเสนอเร่งกำหนดมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค

วันนี้ (24มิ.ย.2564) ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า และรองเท้า เร่งผลิตสินค้าหลากหลายรูปแบบภายใต้ตราสินค้า Hemp Stories โดยใช้ผ้าเส้นใยกัญชงที่รับซื้อจากชาวชาติพันธุ์ม้ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, อ.เทิง จ.เชียงราย และอ.เชียงคำ จ.พะเยา

 

 

คุณสมบัติของผ้าใยกัญชงที่คงทน สวยงาม ให้ความอบอุ่นเมื่ออากาศหนาว ระบายอากาศได้ดีเวลาอากาศร้อน สวมใส่สบาย ไม่รู้สึกเหนียวติดตัว ทำให้เสื้อผ้าใยกัญชงได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ และเริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนไทยมากขึ้น หลังภาครัฐปลดล็อกให้สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชง และกัญชา ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดไปสร้างมูลค่าเพิ่ม

 

 

 

ธิติมา มีสุข เจ้าของร้าน Hemp Stories ใน ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ เล่าว่า การปลดล็อกกัญชงทำให้ทางร้านสามารถสื่อสารเพื่อการส่งเสริมการขายได้ง่าย ยอดขายดีขึ้น และแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์ เพราะสินค้าของร้านเป็นมินิมอลสไตล์ เน้นการสวมใส่สบาย

 

 

ส่วนข้อจำกัดเพียงสิ่งเดียวที่ได้รับการสะท้อนจากกลุ่มชาวบ้านผู้ปลูกกัญชง คือ การสนับสนุนจากภาครัฐในการเข้าไปต่อยอดให้กับกลุ่มชาวบ้านสามารถพัฒนาเป็นอาชีพที่ยั่งยืน และให้ชาวม้งรุ่นใหม่ๆ กลับไปสืบทอดการปลูก และ แปรรูปกัญชงจากผู้สูงวัยในชุมชน

 

 

นอกจากกัญชง แล้ว ส่วนต่างๆ ของกัญชา ก็ถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าอาหาร หนึ่งในนั้นคือ ร้านหมูติดมันส์ และกาแฟอาลาบริค ภายในโครงการบิสสิเนสปาร์ค อ.เมืองเชียงใหม่

 

 

ศุภกิตติ์ เกิดศรี ผู้จัดการร้านคาเฟ่หมูปิ้งกัญชาแห่งแรกในประเทศไทย บอกว่า ใบกัญชาที่ร้านนำมาปรุง ซื้อมาจากแปลงปลูกกัญชาออร์แกนิค ม.แม่โจ้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ นำผสมในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มรสชาติในหมูปิ้งให้มีความแตกต่างจากหมูปิ้งทั่วไป

 

 

นอกจากนี้ยังนำใบกัญชาไปแปรรูปเป็น ไซรัป หรือ น้ำเชื่อม สำหรับสร้างเมนูเครื่องดื่มอีกหลากหลาย แม้จะเพิ่งเปิดตัว แต่ก็เป็นที่สนใจจากลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา และคนทำงานรุ่นใหม่ โดยทางร้านเตรียมต่อยอดสร้างธุรกิจแฟรนไชส์ เริ่มต้นในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนขยายไปทั่วประเทศ

 

 

ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ เป็นที่ตั้งของฐานเรียนรู้แปลงปลูกกัญชาอินทรีย์ ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภารกิจสำคัญคือการเป็นแหล่งเรียนรู้ จัดการศึกษา การจัดฝึกอบรม รวบรวมผลงานวิจัย และองค์ความรู้ด้านกัญชา และกัญชง รวมทั้งผลิตกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

 

 

อีกหนึ่งบทบาท คือ การจำหน่ายผลผลิตกัญชาแก่ บุคคล หรือ นิติบุคคล ซึ่งประสงค์ขอรับผลผลิตไปใช้ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ บอกว่า ผลผลิตกัญชาที่มีผู้สนใจขอรับไปพัฒนาเป็นสินค้าอาหารมากที่สุด คือ ใบกัญชาสด ซึ่ง ม.แม่โจ้จำหน่ายในราคา 1,000 บาท ต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาที่ถูกที่สุดในประเทศ ที่ผ่านมา มีผู้สั่งจองผลผลิตกัญชากว่า 2,000 ราย ส่งมอบไปแล้ว กว่า 900 ราย

 

 

แม้ขณะนี้ กัญชาจะเป็นที่นิยมนำมาพัฒนาเป็นอาหาร เครื่องดื่ม แต่สิ่งสำคัญที่ ดร.อานัฐ เน้นย้ำ คือ อย่าใช้มากเกินไป ไม่บริโภคเกินจำเป็น ใช้ปริมาณกัญชาในปริมาณที่เหมาะสม ยกตัวอย่างใบกัญชา ควรใช้แค่จานละ 1 ใบ และไม่มากไปกว่า 3 - 5 ใบ เพราะสารออกฤทธิ์ต่างๆ อาจจะมีผลต่อร่างกายได้

 

 

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ภาครัฐควรเร่งกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการนำมาใช้ที่ชัดเจน กินเท่าไหร่จึงปลอดภัย รวมไปถึงการตรวจสอบคุณภาพ กำหนดเกณฑ์ปริมาณการปนเปื้อน สารเคมี ยาฆ่าแมลง และโลหะหนัก รวมถึง ควบคุมการใช้สายพันธุ์ที่ถูกต้อง ป้องกันการลักลอบปลูกกัญชา โดยแอบอ้างว่าเป็นพืชกัญชง ที่สำคัญคือการขายส่วนต่างๆ ของกัญชาในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง