37% ของประชากรโลก หรือประมาณ 2,900 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต

Logo Thai PBS
37% ของประชากรโลก หรือประมาณ 2,900 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เผยแพร่รายงานระบุว่า มีประชากร 2,900 ล้านคนยังออฟไลน์ และ 96% เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

เมื่อวันที่ (30 พ.ย. 64) ITU ระบุว่า มีประชากรโลก 2,900 ล้านคน ที่ยังไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต โดย 96% เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และแม้แต่ในจำนวนประชากร 4,900 ล้านคน ที่ถูกนับเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว ซึ่งจำนวนหลายร้อยล้านคนอาจมีโอกาสเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ (Share devices) ไม่บ่อยนัก หรือถูกจำกัดความเร็วของอินเทอร์เน็ตจนไม่อาจใช้ประโยชน์ที่แท้จริง

ช่องว่างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตระหว่างเมืองกับชนบทก็ยังคงมีอยู่ รายงานของ ITU พบว่าประชากรในเขตเมืองทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าคนในพื้นที่ชนบทถึงสองเท่า ในอัตราเมือง 76% เทียบกับชนบท 39% ถึงกระนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทนั้นแทบไม่มีนัยสำคัญในแง่ของการใช้อินเทอร์เน็ต (89% ของประชากรในเขตเมือง ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เทียบกับ 85% ในพื้นที่ชนบท) ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา ผู้คนในเขตเมืองมีแนวโน้มที่จะใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าคนในพื้นที่ชนบทถึง 2 เท่า (เมือง 72% ชนบท 34%)
ส่วนในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs หรือ Least developed countries) ประชากรในเขตเมืองมีแนวโน้มที่จะใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทเกือบ 4 เท่า (47 % ในเมืองเทียบกับ 13% ในชนบท)

ในด้านความไม่สมดุลทางเพศก็มีเช่นกัน ซึ่ง ITU พบว่า ความเหลื่อมล้ำทางเพศบนโลกดิจิทัลกำลังแคบลง แต่ช่องว่างขนาดใหญ่ยังคงมีอยู่ในประเทศยากจน โดยทั่วโลกมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในอัตราเฉลี่ยชายเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 62% หญิง 57% และแม้ว่าเหลื่อมล้ำทางเพศบนโลกดิจิทัลจะน้อยลงในทุกภูมิภาคของโลกและถูกขจัดออกไปในโลกที่พัฒนาแล้ว แต่ยังคงมีช่องว่างที่กว้างขวางในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (ชาย 31% ผู้หญิง 19%) และในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (ผู้ชาย 38% ผู้หญิง 27%)

ส่วนประเด็นอายุ ประชากรหนุ่มสาวกลุ่มอายุ 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดถึง 71% ขณะที่ประชากรกลุ่มอายุอื่นทั้งหมดมีการใช้อินเทอร์เน็ต 57% ช่องว่างระหว่างวัยนี้สะท้อนให้เห็นในทุกภูมิภาค และเด่นชัดที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ที่เยาวชน 34 % กลุ่มประชากรที่เหลือ 22% ITU มองว่าการเปิดรับเรื่องดิจิทัลที่มากขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาวเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเชื่อมต่อและการพัฒนา ตัวอย่างเช่นในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ครึ่งหนึ่งของประชากรมีอายุน้อยกว่า 20 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานในท้องถิ่นจะเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นและเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้นเมื่อคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน

นอกจากนั้น ข้อมูลตัวเลขภาพรวมปี 2021 ของ ITU ยังเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการเชื่อมต่อดิจิทัลทั่วโลก แสดงให้เห็นจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่เติบโตขึ้นมากกว่า 10% ในปีแรกของการระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นยอดเพิ่มขึ้นในรอบปีที่มากที่สุดในรอบทศวรรษ โดยในปี 2021 มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นกว่า 4,900 ล้านคน จากเดิมในปี 2019 มีเพียงประมาณ 4,100 ล้านคน
จำนวนผู้คนออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ ชี้ให้เห็นว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ในช่วงการระบาดโควิด-19 เช่น การปิดเมืองในวงกว้างและการปิดโรงเรียน ประกอบกับความจำเป็นในการเข้าถึงข่าวสาร บริการของรัฐบาล ข้อมูลด้านสุขภาพ E-Commerce รวมถึงธนาคารออนไลน์ มีส่วนทำให้ผู้คนต้องเข้าสู่โลกออนไลน์เพิ่มขึ้นประมาณ 782 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 17%

Doreen Bogdan-Martin ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโทรคมนาคมของ ITU ซึ่งดูแลงานด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ของ ITU กล่าวว่า "สถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในภารกิจของ ITU ในการเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน แต่ก็ยังคงมี 'ช่องว่างในการเชื่อมต่อ' ที่กว้างใหญ่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ซึ่งเกือบ 3 ใน 4 ของประชากร ที่ไม่เคยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยผู้หญิงในกลุ่มประเทศ LDCs ถูกกีดกันเป็นพิเศษ และประมาณ 4 ใน 5 ยังคงออฟไลน์อยู่"

‘ผู้ถูกการกีดกันทางดิจิทัล’ ทั้งหลายเหล่านี้ต้องเผชิญกับความท้าทายซึ่งยากจะจัดการ ซึ่งรวมถึงความยากจน การไม่รู้หนังสือ การจำกัดเข้าถึงไฟฟ้า และการขาดทักษะและความตระหนักด้านดิจิทัล ประกอบกับการขาดเนื้อหาในภาษาท้องถิ่น ตลอดจนอินเทอร์เฟซที่ต้องใช้ทักษะในการอ่านและการคำนวณ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเชื่อมต่อออนไลน์

“เราจำเป็นต้องมีแนวทางแก้ไขด้านดิจิทัลเพื่อกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกครั้ง และช่วยนำประเทศต่างๆ กลับมาตามแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในปี 2030” Bogdan-Martin ผอ. ITU กล่าวเสริม

Source: www.itu.int (https://thaip.bs/yctNfxB)

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง