ไขคำตอบ! "เหี้ย" ยึดพื้นที่กรุงเทพ

สิ่งแวดล้อม
20 พ.ค. 65
14:51
3,037
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ! "เหี้ย" ยึดพื้นที่กรุงเทพ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ นักวิจัยจากสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (อพวช.) ตอบคำถามทำไมกรุงเทพมหานคร ถึงมีตัวเงินตัวทอง หรือตัวเหี้ย ชุกชุม

กรณี น.ส.พิศมัย เรืองศิลป์ ผอ.เขตบางเขน บอกถึงปัญหาพื้นที่เขตบางเขน ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดทั้งคืนโดยเฉพาะวงเวียนบางเขน พร้อมพบว่าเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มีตัวเงินตัวทอง "ตัวเหี้ย" เข้าไปติดภายในเครื่องส่งผลให้เครื่องไม่สามารถทำงานได้ จึงประสานสำนักการระบายน้ำแก้ไขปัญหา ก่อนใช้งานได้ปกติ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ นักวิจัยจากสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (อพวช.) ตอบคำถามทำไมกรุงเทพมหานคร ถึงมีตัวเงินตัวทอง หรือตัวเหี้ย ชุกชุม

ประชากรเหี้ย มีมากขึ้นหรือไม่?

ยังไม่มีใครบอกได้ว่าตัวเหี้ยใน กทม.มีประชากรมากน้อยแค่ไหน แต่ประเมินได้ว่ามีมากขึ้น และมีคนพบเห็นได้บ่อยขึ้น สาเหตุที่ยังบอกไม่ได้ชัดเจนเรื่องจำนวนประชากร เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการ ไม่มีการศึกษาความหนาแน่นจำนวนประชากร

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

ทำไมกทม.ถึงมีเหี้ยอาศัยอยู่

พื้นที่กทม.เหมาะกับการอยู่อาศัยหากิน ผสมพันธุ์ วางไข่ของตัวเหี้ย เพราะตัวเหี้ยชอบอยู่ในแหล่งน้ำ ตึกเยอะ และตามท่อระบายน้ำ เป็นแหล่งที่เหี้ยชอบอยู่

เหี้ยไม่ได้ปรับตัว หรือปรับพฤติกรรมให้อยู่กับกทม. แต่การขยายตัวของเมืองชั้นในของ กทม.สร้างถิ่นอาศัยที่เหมาะกับตัวเหี้ย ซึ่งกทม.เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และชีววิทยาของเหี้ยชอบน้ำอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งที่เหี้ยชุกชุม เพราะมีแหล่งอาหารในพื้นที่ เช่น เศษอาหาร ซากสัตว์ หนู แมวตายทิ้งตามท่อ และใต้ตึก กลายเป็นคนที่ไปปรับพื้นที่ให้เหมาะกับการอยู่อาศัยในกทม.เหี้ยไม่ได้ปรับพื้นที่เข้าหาเมือง แต่เมืองปรับพื้นที่ให้เหมาะกับเหี้ยมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งไม่มีผู้ล่าตามระบบนิเวศ

เหี้ยมุดท่อ สาเหตุน้ำท่วมกทม.?

ท่อเป็นพื้นที่เปียกชื้น มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหารให้เหี้ยอาศัยอยู่ในนั้น รวมทั้งแหล่งสวนสาธารณะ และพื้นที่ติดริมน้ำ พื้นที่โล่งบางส่วนติดแหล่งน้ำ เพราะสัตว์เลื้อยคลาน จะต้องอาศัยความร้อนจากภายนอกร่างกาย เพื่อให้มันมีพฤติกรรมตาม เช่น ตากแดดตอนเช้า พอร้อนก็ลงน้ำ พอตัวเริ่มเย็นก็ขึ้นจากน้ำ จึงพบเห็นได้ในพื้นที่ติดแหล่งน้ำ

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

จำเป็นต้องจับออกเพื่อให้สมดุลหรือไม่?

การจะเอาเหี้ยออกหรือไม่ต้องดูจากความหนาแน่นของพื้นที่ว่าล้นหรือมีประชากรมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งหลายปีก่อนที่ กทม.เคยมีแนวคิดจะจับออก ยังไม่ชัดว่าจะมีผลด้านบวกด้านลบอย่างไร ในมุมมองอาจจะทัศนวิสัย และคนกลัวน้อยลง

ยังไม่เคยเห็นว่าพฤติกรรมเหี้ยดุร้ายมากขึ้น เพราะนิสัยของสัตว์ชนิดนี้คือกลัวคน วิ่งหนีลงน้ำหรือขึ้นต้นไม้ ไม่เคยเห็นเหี้ยวิ่งไล่กัดคน เรายังอยู่ร่วมกับเหี้ยได้

สำหรับตัวเงินตัวทอง (เหี้ย) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามลำดับที่ 19 ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ห้ามเลี้ยง ซื้อ ขาย หรือครอบครอง ต้องมีการขออนุญาตเพาะเลี้ยงจากกรมอุทยานฯ ก่อน ฝ่าฝืนมีความผิดมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยช่วงปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ เคยเข้ามาจับเหี้ยทางธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้เข้ามาจับตัวเหี้ยในพื้นที่เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้น จากสภาพพื้นที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ทั้งแหล่งน้ำ บ่อปลา จนทำให้เหี้ยขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุทยานฯ ลุยจับเหี้ย 52 ตัว ใน 2 มหาวิทยาลัย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง