รู้จัก "นวนุรักษ์" แพลตฟอร์มช่วยอนุรักษ์ความรู้ชาวบ้านผสานงานวิจัย

Logo Thai PBS
รู้จัก "นวนุรักษ์" แพลตฟอร์มช่วยอนุรักษ์ความรู้ชาวบ้านผสานงานวิจัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จัก "นวนุรักษ์" คลังข้อมูล "วัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ" ช่วยส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ทั้งในเชิงท่องเที่ยว อนุรักษ์ และต่อยอดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ต่อไป

นายเทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) อธิบายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงการใช้แพลตฟอร์ม “นวนุรักษ์” ช่วยในการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ให้กับชุมชนเพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่และเก็บข้อมูลในระยะยาว และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ 

รวมถึงช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนให้ชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถหาข้อมูลก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวได้

 

“นวนุรักษ์” คืออะไร

เทพชัย : “นวนุรักษ์ มาจากคำว่า “นว” ที่แปลว่าใหม่ รวมกับคำว่า “ อนุรักษ์” รวมเป็น นวนุรักษ์ ซึ่งก็คือ แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีวัตถุประสงค์คือ ใช้ชุมชนที่เป็นเจ้าของข้อมูล ที่มีอยู่ให้นำมาเก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยส่วนสำคัญที่สุด คือ ชุมชน

ชุมชนจะใช้งาน “นวนุรักษ์” ได้อย่างไร

เทพชัย : จุดสำคัญ 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่บุคคลทั่วไปสามารถมองเห็นได้ และ 2.ส่วนของการบริหารจัดการ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนหลังบ้าน โดยให้ ยูสเซอร์เนม และ พาสเวิร์ด ให้กับชุมชน หรือหน่วยงานที่เข้ามาใช้โดยจะมีสิทธิตัดสินใจว่าจะเผยแพร่ข้อมูลส่วนใดให้สาธารณชนรับรู้หรือใช้ หรือตัดสินใจว่าบุคคลใดจะสามารถใช้แพลตฟอร์มใดได้

หากมีผู้เฒ่า ผู้แก่ในชุมชน และมีความรู้ แต่หากไม่ได้รับการถ่ายทอด ความรู้ เหล่านั้นก็จะสูญหายไป ซึ่งการใช้นวนุรักษ์จะเป็นการส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งชุมชนที่ใช้แพลตฟอร์มนี้สามารถนำมาใช้ในการเก็บข้อมูลความรู้ ว่าในอดีต ชุมชนเหล่านี้มีอะไรบ้าง หรือ บางอย่างเกือบจะหายไป ก็ถูกนำมาเก็บไว้

รวมถึงอีกกรณีคือ การที่ชุมชนมีของดี ทั้งสถานที่ อาหาร วัฒนธรรม ที่สวยงาม แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวหรือทัวร์จะไปลงเฉพาะที่ที่อาจจะดูสะดวกสบาย แต่ชุมชนมีที่ที่อยากนำเสนอ ก็สามารถกำหนดจุดได้ว่า ตรงไหนน่าเที่ยว ก็สามารถนำไปเสนอได้

 

นักวิชาการและชาวบ้านจะทำงานร่วมกันอย่างไร

เทพชัย : นักวิชาการท้องถิ่นจะมีบทบาทมาในการเข้ามามีส่วนร่วมเช่น กรณีของทางชีววิทยา ซึ่งต้องใช้ข้อมูลของนักวิจัยตามแหล่งข้อมูลในสถานที่ต่าง ๆ ขณะเดียวกันข้อมูลทางธรรมชาติซึ่งใกล้กับชุมชน โดยส่วนแรกจะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการจากนักวิจัย และส่วนที่ 2.ทางชุมชนนำเข้า เช่น มะละกอ นักวิชาการนำเข้าในลักษณะหนึ่ง เช่นสายพันธุ์ หรือ ข้อมูลทางวิชาการต่าง ๆ แต่ชุมชนก็จะนำเข้าในอีกลักษณะเช่น ที่อื่นเรียกมะละกอ ชุมชนทางอีสานก็จะเรียกว่า “บักหุ่ง”

 

ดังนั้น ข้อมูลที่ท้องถิ่นใส่ลงไปก็จะเป็นข้อมูลท้องถิ่นจริง ๆ ในขณะที่อาจารย์จะใส่ข้อมูลเชิงวิชาการ ซึ่งข้อมูลทั้ง 2 ส่วนจะถูกนำไปรวมกันใน "นวนุรักษ์" ทำให้มีข้อมูลทั้งในเชิงวิชาการและเชิงท้องถิ่น ประกอบกันในการนำไปใช้ในการนำเสนอได้ดีมากขึ้น  

เริ่มแล้วที่ไหนบ้าง

เทพชัย : ขณะนี้เริ่มแล้วในหลายจังหวัดคือ 1.จ.เชียงใหม่ 2.จ.ลำปาง สตูล ระยอง และชุมชนหลายแห่งที่ร่วมมือกับ อปท. เช่น จ.น่าน จ.สุโขทัย จ.บุรีรัมย์ จ.นครพนม จ.ลพบุรี จ.นครราชสีมา จ.ตราด จ.สุพรรณบุรี จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา  

 

 

ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากแค่ไหน

เทพชัย : กรณีที่ชาวบ้านต้องไปทำแพลตฟอร์มเอง ต้องมีค่าใช้จ่ายราวหลักแสน แต่กรณีที่มีความหวือหวาหรือลักษณะพิเศษมาก ก็อาจจะเป็นหลักล้านบาทได้ การมีแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ก็จะช่วยเขาได้เริ่มต้นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และในหลายที่ อบต.ก็มีการเข้ามาสนับสนุนต่อ หรือ ชุมชนที่เข้มแข็งไปขอทุนวิจัยและนำงานวิจัยมาต่อยอด


นอกจากนี้ คือ การร่วมงานกับนักวิชาการในท้องถิ่นในการนำเข้าข้อมูล ดังนั้นชาวต่างชาติก็จะสามารถเข้ามาหาความรู้ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาได้ โดยมีการเตรียมพร้อมแพลตฟอร์มสำหรับในหลายภาษา แต่ขณะนี้ชุมชนอาจจะไม่มีความพร้อมแต่จะเชื่อมโยงไปพร้อมกับนักวิชาการท้องถิ่นได้

สามารถบันทึกข้อมูลแบบใดได้บ้าง


เทพชัย : ข้อมูลที่นำเข้าได้มีทั้ง ตัวหนังสือ วิดีโอ เสียง ภาพ 360 องศา รวมถึงการจัดทำแบบสอบถามผ่าน QR Code ได้ รวมไปถึงการวิเคราะห์เชิงสถิติได้

การใช้แพลตฟอร์ม “นวนุรักษ์” ยกตัวอย่างเช่น ใน จ.สตูล มีการเก็บเสียงค้างคาวในถ้ำไว้ เช่นกรณีที่เมื่อนักท่องเที่ยวไปเยือนแล้วไม่ได้ได้ยินจะสามารถมาฟังเสียงได้ หรือ ในบางพื้นที่ ที่นักวิชาการ ม.รังสิต ได้เก็บรวบรวมเสียงกลองมโหระทึกเก่าแก่จำนวนกว่า 80 กลอง แล้วเก็บเสียงไว้ ซึ่งผู้สนใจก็สามารถมาฟังเสียงกลองเหล่านี้ได้

จะพัฒนาแพลตฟอร์มต่อไปอย่างไร

ขณะนี้เมื่อสามารถรวบรวมข้อมูลจากชุมชนต่าง ๆ มาได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาที่อยากได้คือ การเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าหากัน เช่นไปเที่ยวป่าชายเลน จ.ตราด ขณะที่ จ.สตูล และ จ.พังงา ก็มีป่าชายเลน ซึ่งหากนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกันเราอาจได้เห็นพฤติกรรมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น


รวมถึงการเพิ่มส่วนนอกเหนือการท่องเที่ยว เช่น ผลิตภัณฑ์ และสินค้า ที่ช่วยเพิ่มช่องทางในการขายสินค้าได้มากขึ้น เช่น เมต้าเวิร์ส (Meta Verse) ในขณะนี้ที่มีการสร้างเวิร์ส (VERSE) เพิ่มให้โดยให้ชุมชนเข้าไปอยู่และกลายเป็นตลาดแห่งใหม่

ถ้าชุมชนอยากใช้แพลตฟอร์ม “นวนุรักษ์” จะต้องทำอย่างไร

ทาง สวทช.จะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องความรู้ในการใช้ของแพลตฟอร์ม ชุมชนอาจไม่มีความรู้ อาจต้องผ่านอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือ เช่นใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีการจัดตั้งชมรมและให้เด็กนักเรียนเข้ามาใช้และเป็นตัวขับเคลื่อนในการนำเข้าข้อมูลในแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ ซึ่งยังต้องดำเนินเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งจะต้องดูความพร้อมของชุมชนด้วย แต่หวังว่าจะขยายมากขึ้นเรื่องเพื่อให้ชุมชนเข้าใจอัตลักษณ์ของชุมชนและท้ายที่สุดได้ดึงเอาสิ่งสำคัญของชุมชนไปใช้ประโยชน์ทั้งแหล่งท่องเที่ยว สินค้า เพื่อที่จะสามารถเข้าไปดูแลชุมชนได้

คีย์เวิร์ด คือ ต้องหาชุมชนให้เจอก่อน และหากหาสนใจก็ติดต่อมาที่ “นวนุรักษ์” ได้เลย จากนั้นจะมีการสัมภาษณ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้และช่วยหาอัตลักษณ์ของชุมชนโดยมีนักวิชาการช่วย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่ม ไปพร้อมกับองค์กรส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น อบต. อปท. และเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำแพลตฟอร์มไปใช้ ส่งเสริมท้องถิ่นและชุมชน 

 

/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง