ขบวนการแชร์ลูกโซ่เปลี่ยนรูปแบบและวิธีการหลอกลวง

อาชญากรรม
16 เม.ย. 58
15:10
334
Logo Thai PBS
ขบวนการแชร์ลูกโซ่เปลี่ยนรูปแบบและวิธีการหลอกลวง

ปัญหาอย่างหนึ่งในการจัดการกับขบวนการแชร์ลูกโซ่ คือผู้เสียหายมักจะไม่ให้ความร่วมมือ เพราะเกรงว่าถ้าแชร์ล้มจะไม่ได้เงินคืน ขณะที่ขบวนการก็ใช้เทคโนโลยีช่วยโน้มน้าวหาสมาชิกมากขึ้น อ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง แต่สุดท้ายจะมุ่งเน้นการหาสมาชิกร่วมลงทุน มากกว่าการขายสินค้าจริง

การเข้าตรวจค้นภายในบ้านพักของ พล.ท.อธิวัฒน์ สุ่นป่าน ที่ปรึกษาของบริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ประเทศไทย เมื่อวานนี้ (15เม.ย.2558) เพื่อค้นหาเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม หลังตำรวจเข้าตรวจค้น และยึดคอมพิวเตอร์ภายในบริษัท ยูฟัน สโตร์ฯ เพื่อหาหลักฐานดำเนินคดีกับผู้บริหารของบริษัท
 
การดำเนินคดีกับบริษัท ยูฟัน สโตร์ฯ ซึ่งเป็นแชร์ลูกโซ่ ไม่ใช่คดีแรกที่มีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอเสไอ) ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องปัญหาแชร์ลูกโซ่ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน และพิจารณารับเป็นคดีพิเศษประมาณ 100 คดี มีการสอบสวนแล้วเสร็จส่งให้อัยการพิจารณาไปแล้ว 70 คดี และอยู่ระหว่างสืบสวนอีก 30 คดี และขณะนี้ยังมีคดีแชร์ลูกโซ่ ซึ่งยังสืบสวน แต่ยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษอีกกว่า 40 คดี
 
พ.ต.ท.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ปัญหาแชร์ลูกโซ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เปลี่ยนไปจากเดิม มีการชักชวนประชาชนหลายระดับให้เข้าร่วมลงทุน โดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูง ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ และยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนมาก
 
วิธีการหลอกให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นสมาชิก กลุ่มแม่ทีมของบริษัท หรือที่เรียกว่า วิทยากร จะใช้วิธีการพูดโน้มน้าว ระบุว่าผลตอบแทนสูงมากกว่าที่จะนำเงินไปฝากธนาคาร ที่สำคัญไม่ต้องมุ่งขายสินค้าเพียงแต่หาสมาชิกมาร่วมลงทุนเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง บริษัทจะไม่มีสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ตามที่ระบุไว้ในโฆษณา
 
ส่วนการชักชวนจะมีการแบ่งตามรูปแบบวิถีชีวิตของผู้เสียหาย โดยหากเป็นประชาชนในต่างจังหวัดจะใช้วิธีการหลอกให้ร่วมลงทุนในฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งขณะนี้เกิดความเสียหายในหลายจังหวัด หากประชาชนที่พอมีรายได้ระดับกลาง ก็จะใช้รูปแบบวิธีการให้ร่วมลงทุนแชร์ลอตเตอรี่ แชร์พวงมาลัย หรือแชร์ก๋วยเตี๋ยว ที่มีการร้องเรียนผ่านดีเอสไอ และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี 
 
ส่วนประชาชนที่มีรายได้สูง ก็จะถูกชักชวนให้ร่วมลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือการลงทุนในหุ้นทองคำ ซึ่งกว่าผู้เสียหายจะทราบว่าถูกหลอก เงินที่ลงทุนในระบบก็จะมีการถ่ายเทไปยังบัญชีต่างๆ ทำให้ยากต่อการติดตาม ซึ่งอุปสรรคสำคัญที่ไม่สามารถดำเนินคดีได้ คือผู้เสียหายไม่ให้ความร่วมมือ เพราะทราบดีว่าหากแชร์ล้ม เงินที่ตัวเองลงทุนก็จะไม่ได้คืน ทำให้การติดตามดำเนินคดีเป็นไปได้ยาก
 
ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนได้ระบุโทษของผู้ที่ทำผิดคดีแชร์ลูกโซ่ไว้ชัดเจน โดยหากศาลตัดสินจะมีการพิจารณาโทษในแต่ละคดีตามจำนวนเจ้าทุกข์ที่เข้าแจ้งความ แต่โทษสูงสุดที่ได้รับ จะอยู่ที่โทษจำคุก 20 ปี ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษมองว่าการจัดการปัญหาแชร์ลูกโซ่ ควรต้องให้ความรู้กับประชาชนก่อนที่จะหลงเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง