"เทวินทร์ วงศ์วานิช" ตัวเต็งนั่งเก้าอี้ CEO ปตท.

เศรษฐกิจ
26 มิ.ย. 58
06:10
508
Logo Thai PBS
"เทวินทร์ วงศ์วานิช" ตัวเต็งนั่งเก้าอี้ CEO ปตท.

การสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนใหม่ คาดว่าจะทราบผลอย่างไม่เป็นทางการวันนี้ (26 มิ.ย.2558) หลังที่ประชุมบอร์ดพิจารณารายชื่อตามที่คณะกรรมการสรรหาได้เสนอมา โดยมีการคาดการณ์ว่านาย "เทวินทร์ วงศ์วานิช" จะเป็นผู้เดียวที่ได้รับการพิจารณา

การประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัท ปตท. เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (26 มิ.ย.2558) มีวาระที่น่าสนใจคือการพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนใหม่ แทนนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่กำลังจะหมดวาระในวันที่ 9 ก.ย.2558 ตามที่คณะกรรมการสรรหาที่มีนายรังสรร ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้เสนอมา หลังมีการแสดงวิสัยทัศน์ผู้สมัคร 3 คนเมื่อวานนี้ (25 มิ.ย.2558) คือ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ., นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอลจำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี, นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร ปตท.

แม้ก่อนหน้านี้จะมีนายวุฒิกร ทิวะศศิธร ซึ่งประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว แต่ขาดคุณสมบัติด้านเทคนิค จึงทำให้เหลือผู้สมัครเพียง 3 คนและเป็นที่คาดการณ์ว่านายเทวินทร์ วงศ์วานิช จะเป็นผู้เดียวที่ได้รับการพิจารณา

เมื่อ 4 ปีก่อน นายเทวินทร์ เคยเป็นแคนดิเดตซีอีโอแข่งกับนายไพรินทร์ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตซีอีโอ ปตท.สมัยนั้น แต่ไม่สามารถฝ่าการสรรหาได้ นายเทวินทร์ จึงนับเป็นผู้รอบรู้ด้านปิโตรเลียม โดยเริ่มต้นงานด้านวิศวกรในบริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ฯ ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นบริษัท เชฟรอนฯ แล้วเริ่มเข้ามาทำงานในบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2532 ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงปฏิบัติงานในตำแหน่งซีอีโอ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำของ ปตท.

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ บมจ.ปตท กล่าวว่า ในรอบเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศทำได้ดี ซึ่ง ปตท.ได้เสนอแผนต่างๆเพื่อต่อยอดในอนาคตในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งหากรัฐบาลจะอนุมัติแผนของ ปตท.ตามที่วางไว้ ก็เชื่อว่าอนาคตประเทศไทยจะไม่ขาดแคลนพลังงาน จึงต้องฝากเรื่องนี้ไว้กับผู้บริหารรุ่นต่อไป

แม้นั่นเป็นภารกิจหลักที่ซีอีโอปัจจุบันฝากไว้ให้สานต่อ โดยเฉพาะการวางแผนนำเข้าแอลเอ็นจีที่ต้องเตรียมพร้อม เพื่อทดแทนก๊าซในอ่าวไทย แหล่งเจดีเอไทยมาเลเซียและเมียนมาที่ลดลงและเตรียมไว้ในกรณีที่ประเทศไทยไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ตามแผน รวมถึงงานเตรียมโครงสร้างพื้นฐานก๊าซ ทั้งแผนสร้างสถานีรับแอลเอ็นจีแห่งที่ 3 อีก 5 ล้านตัน, แผนสร้างคลังรับก๊าซชั่วคราว หรือ FSRU  3 ล้านตันทั้งในภาคใต้และเมียนมา, โครงการสร้างท่อก๊าซเส้นที่ 5 วงเงินลงทุน 5 ปีประมาณ 2 แสนล้านบาท

จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายกับการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีเกือบ 3 ล้านล้านบาท ทำกำไรปีที่ผ่านมากว่า 5.5 หมื่นล้านบาทและมักถูกโจมตีว่าเป็นบริษัทผูกขาดด้านพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นองค์กรไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ซีอีโอคนใหม่จะพิสูจน์ฝีมือจากภาพลักษณ์ด้านลบและการต่อต้านจากกระแสสังคม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง