ทบทวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน วันก่อนถึงวันนี้เกิดเหตุการณ์ได้อย่างไร

การเมือง
27 มิ.ย. 58
06:50
382
Logo Thai PBS
ทบทวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน   วันก่อนถึงวันนี้เกิดเหตุการณ์ได้อย่างไร

ลำดับเหตุการณ์ต่อสู้-เคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน กลุ่มพลเมืองโต้กลับ และนักศึกษาหน้าหอศิลป์ เริ่มต้นอย่างไร เกี่ยวข้องกันอย่างไร เดินทางมาอย่างไร จนถึงวันนี้

19 พฤศจิกายน 2557
นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน ชู 3 นิ้ว ต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จ.ขอนแก่น แม้ไปที่ค่ายทหาร มีนักศึกษา 2 คนที่ยอมลงลายมือชื่อรับตามเงื่อนไขว่าจะไม่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารอีก คือ นายเจตษฤษติ์ นามโคตร (จูเนียร์) และนายพายุ บุญโสภณ (พายุ) ขณะที่นักศึกษาอีก 3 คนไม่ยินยอมรับเงื่อนไข เพราะมั่นใจว่าที่พวกเขาแสดงออกนั้นถูกต้อง ประกอบด้วย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) นายวสันต์ เสตสิทธิ์ (โต้ง) และนายวิชชากร อนุชน (ฟลุค) แต่ก็ไม่มีคดีติดตัว

14 กุมภาพันธ์ 2558
กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัด “เลือกตั้งที่ลัก” จบลงที่คดีขึ้นศาลทหาร โดยมีผู้ถูกจับกุม 4 คนคือ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ เฌอ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 2553 และ นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ หรือ กึ๋ย อาชีพขับรถแท็กซี่ และ นายสิริวิชญ์ เสรีวิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

14-16 มีนาคม 2558
กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดแคมเปญ “เมื่อยุติธรรมไม่มา ก็เดินหน้าไปหามัน” แต่ในวันที่ 14 มี.ค.2558 พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ โดนจับ แต่ปล่อยตัวออกมา

16 มีนาคม 2558
สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ 4 คน ไปสน.ปทุมวัน แต่ถูกรวบรัดฟ้องศาลทหาร จนนักศึกษาเดินทางจากธรรมศาสตร์มาประท้วง จบลงที่ได้รับการปล่อยตัว แต่ต้องมาศาลทหารอีก

25 มีนาคม 2558
ตำรวจจับพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ เวลาเที่ยงคืน และตั้งอีก 3 ข้อหา ก่อนที่นายพันศักดิ์จะจัดกิจกรรมเดินรณรงค์อีกครั้ง

22 พฤษภาคม 2558
ั-นักศึกษากลุ่มดาวดินถูกจับขณะจัดงานรำลึก 1 ปี รัฐประหารที่ จ.ขอนแก่น และได้รับการประกันตัวออกมา เจ้าหน้าที่ให้ไปรายงานตัว 8 มิ.ย.2558
-กลุ่มนักศึกษาจัดรำลึก 1 ปีรัฐประหารที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ  และถูกตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมนักศึกษาและประชาชนจำนวน 39 คน ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในเช้าวันรุ่งขึ้น

3 มิถุนายน 2558
ตำรวจออกหมายเรียกนักศึกษา 9 คนที่ชุมนุมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ให้ไปรายงานตัววันที่ 8 มิ.ย.2558 ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกว่าจะไม่มีการดำเนินคดี นักศึกษาขอเลื่อนการเข้าพบเจ้าหน้าที่เป็นวันที่ 24 มิ.ย.

8 มิถุนายน 2558
นักศึกษากลุ่มดาวดินอารยะขัดขืน โดยการแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ยอมรับกฎหมายของคณะรัฐประหาร ต่อมากลุ่มดาวดินได้เดินทางไปที่จังหวัดเลย อยู่ร่วมกับชาวบ้านที่สู้มาด้วยกัน

22 มิถุนายน 2558
นายธัชพงศ์ แกดำ นักศึกษา 1 ใน 9 คนที่จัดกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และถูกหมายเรียก เข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยวงเงินประกัน 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามชุมนุมทางการเมืองและห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

24 มิถุนายน 2558

-ช่วงเช้า ตำรวจเข้าจับกุมนายนัชชชา กองอุดม ขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลตามหมายจับจากข้อหาข้อหามั่วสุมชุมเกิน 5 คน ตามคำสั่งคสช.ฉบับ 3/2558 ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งมีโทษปรับ 10,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน ต่อมาทนายความจึงใช้หลักทรัพย์ 10,000 บาทยื่นประกันตัวและศาลอนุญาต เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวผู้ต้องหาไปปล่อยตัวยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยศาลให้ประกันแต่มีเงื่อนไขว่าห้ามชุมนุมทางการเมือง และห้ามยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม
-เวลา 13.00 น. กลุ่มนักศึกษา 7 คน พร้อมกลุ่มดาวดินอีก 7 คน เดินทางไป สน.ปทุมวัน เพื่อแสดงตัวแต่ไม่ขอมอบตัว และฟ้องกลับตำรวจที่ทำร้ายร่างกาย นักศึกษายุติกิจกรรมที่สน.ปทุมวันเวลาประมาณ 22.30 น.และแยกย้ายกันกลับที่พัก แต่มีรายงานว่าตำรวจได้ติดตามและคุกคามนักศึกษาตลอดเส้นทาง นักศึกษาส่วนใหญ่พักค้างคืนที่สวนเงินมีมา สำนักงานของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์

25 มิถุนายน 2558
ตำรวจและทหารนอกเรื่องแบบยังคงสังเกตการณ์และติดตามนักศึกษาที่สวนเงินมีมา นักศึกษาได้แถลงข่าวตอบโต้ข้อกล่าวหาของ พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.ที่ระบุว่ามีกลุ่มการเมืองซึ่งไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ต่อจากนั้นนักศึกษาได้เดินทางไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

26 มิถุนายน 2558
เจ้าหน้าที่นับร้อยคนเฝ้าที่บริเวณสวนเงินมีมาตั้งแต่ช่วงเช้า และมีการขอหมายค้นและหมายจับ ศาลทหารอนุมัติหมายจับประมาณ 16.30 น. ต่อจากนั้นจึงจับกุมนักศึกษา 14 คน ที่สวนเงินมีมาประกอบด้วย

1.นายรังสิมันต์ โรม
2.นายวสันต์ เสดสิทธิ
3.นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์
4.นายพายุ บุญโสภณ
5.นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์
6.นายรัฐพล ศุภโสภณ
7.นายศุภชัย ภูคลองพลอย
8.นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์
9.นายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์
10.นายสุวิชา พิทังกร
11.นายปกรณ์ อารีกุล
12.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
13.นายพรชัย ยวนยี
14.น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว

ทั้งหมดถูกนำไป สน.พระราชวังและขึ้นศาลทหาร ก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง