วิกฤตภัยแล้ง“เหนือ-อีสาน”ยังลุกลามต่อเนื่อง ทำฝนเทียมไม่สำเร็จเพราะสภาพอากาศร้อน

สังคม
8 ก.ค. 58
02:07
159
Logo Thai PBS
วิกฤตภัยแล้ง“เหนือ-อีสาน”ยังลุกลามต่อเนื่อง ทำฝนเทียมไม่สำเร็จเพราะสภาพอากาศร้อน

เจ้าหน้าที่เร่งซ่อมแซมถนนริมคลอง 13 ฝั่งตะวันตก ของปทุมธานี หลังทรุดตัวและส่งผลต่อการสัญจรในพื้นที่ ขณะที่หลายจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เผยสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้การทำฝนเทียมไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

วันนี้ (8 ก.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบท เร่งซ่อมแซมถนนเลียบคลอง 13 ในต.ศาลาครุ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี หลังเกิดเหตุถนนทรุดตัว 3 จุด เป็นระยะทางรวมกว่า 300 เมตร ชาวบ้านบอกว่า ช่วงแรกถนนเริ่มเกิดการเอียง และมีรอยร้าวเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร ทำให้มีปัญหาในการสัญจรไป-มา ต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ขณะเดียวกัน ที่ถนนเลียบคลอง 13 ฝั่งตะวันออก ในพื้นที่ต.หนองสามวัง ทรุดตัวเพิ่มอีก 1 จุด โดยห่างจากจุดแรกหลายกิโลเมตร เบื้องต้น หน่วยงานส่วนท้องถิ่นได้ปิดกันช่องจราจรที่เสียหายแล้ว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ส่วนสาเหตุเบื้องต้น คาดว่า เกิดจากดินใต้พื้นถนนเกิดการทรุดตัว เนื่องจากระดับในคลอง 13 ลดระดับมากกว่าปกติ ทำให้ดินขาดความยืดหยุ่น และไม่สามารถรับน้ำหนักรถที่แล่นผ่านตลอดทั้งวันได้

ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม พร้อมกับอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย พร้อมสั่งการให้ตรวจสอบถนนของกรมทางหลวงชนบทที่ติดคลองสุ่มเสี่ยงต่อการทรุดตัว ขณะเดียวกันจะจำกัดน้ำหนักรถที่ใช้สัญจรผ่านเส้นทางพื้นที่เสี่ยงก็จะดำเนินการณ์ควบคุมน้ำหนักรถที่จะผ่านเส้นทางดังกล่าวจาก 25 ตัน ลดเหลือ18ตัน

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แม้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จะทำฝนหลวงแล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่นในพื้นที่จ.พิจิตร แม้จะมีการทำฝนเทียม แต่มีฝนตกไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ทำให้ปริมาณน้ำฝนยังไม่เพียงพอ ชาวนาจึงต้องใช้บ่อน้ำบาดาลเป็นน้ำต้นทุนทำนา แต่ต้องประสบปัญหาซ้ำ เมื่อบางพื้นที่น้ำใต้ดินลดระดับลงจะไม่สามารถสูบขึ้นมาได้

น.ส.หนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เปิดเผยว่า การทำฝนเทียมทำได้ยากขึ้น เพราะสภาพอากาศร้อน ทำให้การทำฝนเทียมไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ขณะที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บินสำรวจสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จ.เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะอ.วิเชียรบุรี เนื่องจากขณะนี้มีพื้นที่ทางการเกษตรในต.โคกปลง และ ต.ยางสาว กว่า 10,000 ไร่ กำลังขาดน้ำ โดยหลังจากนี้จะขึ้นทำฝนเทียมเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ส่วนที่จ.นครสวรรค์และอุทัยธานี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และแก้มลิง รับน้ำทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งทั้งสองจังหวัดสามารถกักเก็บน้ำได้กว่า 2,800,000 ลูกบาศก์เมตร หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรกว่า 10,000 ไร่ และมีน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค

เช่นเดียวกับภัยแล้งในจ.หนองคาย บริเวณดอนต่ำ-ดอนแตง บ้านศิลาเลข ต.โพนสา อ.ท่าบ่อ ส่งผลกระทบให้ดินตลิ่งแม่น้ำโขงแห้งประกอบกับระดับน้ำโขงอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ตลิ่งแม่น้ำโขงทรุดตัวพังเป็นแนวยาวกว่า 100 เมตร

จ.บุรีรัมย์ ผลกระทบจากภัยแล้งมีพื้นที่นาข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และ อ้อยทั้ง 23 อำเภอได้รับความเสียหายเกือบ 2 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้ประสบปัญหาขาดน้ำจนแห้งตายกว่า 5,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าว

นอกจากนี้กลุ่มชาวนา ต.โพธิ์ชัย สิงห์บุรี เดินแห่ปลักขิกร้องขอฝนจากเทวดา หลังนาข้าว กว่า 2,000 ไร่ รอยืนต้นตาย วอนขอความช่วยเหลือ โดยชาวนาประมาณ 30 คน จาก หมู่ 6 หมู่ 7 หมู่ 8 ต.โพธิ์ชัย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เดือดร้อนหนักจากปัญหาภัยแล้งฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล รวมตัวกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ออกเดินแห่ปลัดขิกไปบนท้องนาที่แห้งแล้ง ร้องขอให้เทวดาได้ช่วยให้ฟ้าฝนฟ้าได้ตกลงมา ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่มีความหวังอยู่ในขณะนี้ พร้อมทั้งร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากได้กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มาลงทุน จนไม่สามารถจะกู้ได้อีกแล้ว ทำให้ขณะนี้ต้นข้าวที่ปลูกไว้ทั้งข้าวที่ออกรวงแล้วและที่เพิ่งปลูกได้ประมาณ 1 เดือน รอยืนต้นตายกว่า 2,000 ไร่ รวมทั้งแปลงนาดำที่ชาวบ้านผลิตพันธ์ข้าวหอมประทุมส่งศูนย์ข้าวชัยนาทก็เสียหายด้วย

นอกจากนี้น้ำในแม่น้ำลพบุรี แห้งขอดและเน่าเสีย ชาวบ้านหลายคน ที่เคยใช้น้ำ กลับใช้ไม่ได้ เนื่องจากน้ำลดลงมากในปีนี้ ซึ่งน้ำในแม่น้ำลดลงไม่สามารถใช้ได้ ทั้งตำบล เนื่องจากเป็นพื้นดอน และน้ำในแม่น้ำได้แห้ง ชาวบ้านหลายครัวเรือน ไม่สามารถใช้น้ำได้ จึงต้องใช้ได้เพียงน้ำบาดาล แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในน้ำในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน หน่วยงานทหารชุดประสานงานปฏิบัติในพื้นที่กองพันทหารม้า 23 รักษาพระองค์สระบุรี และเทศบาลตำบลโรงช้าง อ.มหาราช จึงร่วมกันนำรถขนน้ำ และนำถังใส่น้ำที่มีรหัสไปวางไว้ตามหมู่บ้านและบริเวณวัด เพื่อให้ชาวบ้านนำน้ำไปใช้ ขณะที่เทศบาลตำบลโรงช้างทำหนังสือ เพื่อขอกรมเจ้าท่าให้ช่วยนำเครื่องจักรมาลอกคลองแม่น้ำลพบุรี เพราะขณะนี้น้ำเน่าเสียไม่สามารถระบายไม่ได้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง