กรรมการสิทธิฯ เรียกคสช.-ตร.ให้ข้อเท็จจริงกรณีจับกุม 14 นศ.

การเมือง
8 ก.ค. 58
16:46
142
Logo Thai PBS
กรรมการสิทธิฯ เรียกคสช.-ตร.ให้ข้อเท็จจริงกรณีจับกุม 14 นศ.

ตัวแทน คสช.ยืนยันกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน และไม่เคยคุกคามนักศึกษาและผู้ปกครอง ด้านนักกฎหมาย มธ. แนะ คสช.เผยหลักฐานกลุ่มบงการนักศึกษาเพื่อสร้างความกระจ่างให้สังคม

วันนี้ (8 ก.ค.2558) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เชิญฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ในข้อหาทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ร่วมชี้แจงรายละเอียด โดยมี พ.อ.นุรัช กองแก้ว รองผู้อำนวยสำนักงานพระธรรมนูญ กองทัพบก ตัวแทนจาก คสช. นายสมพร มูสิกะ ผู้แทนจากสภาทนายความ และ ผศ.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ร่วมให้ข้อมูล

ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าชี้แจง

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วิชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังซักถามและรับทราบข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องว่า แม้ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจไม่เข้าร่วมการชี้แจงในครั้งนี้ แต่มีหลายประเด็นที่ กสม.สามารถทำหนังสือสอบไปยัง คสช. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถึงการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กับนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ว่าเป็นไปตามหลักกฎหมายที่ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรมหรือไม่

"นอกจากนี้ คสช.และสังคมควรให้เสรีภาพต่อการแสดงความเห็นต่างตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญไม่ควรผลักให้กลุ่มที่เห็นต่างกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือใช้มาตรการเด็ดขาดรุนแรงในการจัดการ ซึ่งถ้า คสช.ต้องการเห็นความปรองดองของคนในชาติ การใช้ความรุนแรงเช่น กฎอัยการศึก หรือการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการจัดการความเห็นต่างของ คสช.ถือเป็นก้าวที่ผิดพลาด เพราะในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ได้ให้การรับรองในเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้" นพ.นิรันดร์ ระบุ

ด้าน พ.อ.นุรัช ตัวแทน คสช. กล่าวว่า ทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมนักศึกษาทั้ง 14 คน รวมถึงไม่มีทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบคนใดไปพบผู้ปกครองในลักษณะคุกคาม ตามข้อซักถามของกรรมการ กสม. ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นทหารจริงหรือไม่ และหากพบว่าเป็นทหารปลอมก็ต้องว่าไปตามความผิด ทั้งนี้ ก่อนบังคับใช้กฎหมายใดๆ คสช.จะศึกษาก่อนทุกครั้ง และหากมีข้อสงสัยในนโยบายของ คสช. ให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรสอบถามไปยัง คสช.โดยตรง

ขณะที่ ผศ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า การใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดนักศึกษานักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่จำนวน 14 คน ว่ามีความผิดร้ายแรงถึงขั้นต้องขึ้นศาลทหารหรือไม่ กสม.ต้องเป็นฝ่ายทำให้เกิดความชัดเจนแก่สังคมว่า เจตนาของกลุ่มนักศึกษาเป็นการแสดงความเห็นต่างอย่างบริสุทธ์หรือไม่ หากเป็นไปโดยบริสุทธิ์ก็จะเข้าข่ายแค่ขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งควรใช้มาตรการปกติในการจัดการ เพราะผลตามประกาศดังกล่าวหากมีความผิดให้ขึ้นศาลยุติธรรม ไม่ได้มีเจตนาจะให้ขึ้นศาลทหาร เนื่องจากประกาศดังกล่าวมีเพื่อใช้ยกเลิกกฎอัยการศึก และยังมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 คุ้มครองอยู่ ซึ่งโทษที่ได้รับต่ำมากหรือถึงขึ้นไม่มีเลย แต่หากการเคลื่อนไหวมีผู้อยู่เบื้องหลังและกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ค่อยดำเนินการตามกฎหมายอาญา ม.116

"จากการคุยกับผู้ใหญ่ฝ่ายความมั่นคงเมื่อเร็วๆ นี้ ยังยืนยันว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพื่อให้เกิดความรุนแรงในสังคม ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คสช.ควรแสดงหลักฐานและเอาผิด เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ามีผู้ประสงค์ร้ายอยู่เบื้องหลังอยู่จริง ไม่กลายเป็นแค่ข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ที่อาจกระทบต่อความมั่นคง แต่ต้องแยกให้ชัดเจนว่านักศึกษากลุ่มนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรือแสดงความคิดต่างโดยสุจริต ซึ่งคาดว่าเป็นแนวทางหลัง เนื่องจากศาลทหารพิจารณาไม่ฝากขังต่อเพราะยังไม่ปรากฏหลักฐานตามที่กล่าวหา" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.ระบุ

ส่วน นายสมพร ผู้แทนจากสภาทนายความ เผยว่า ทางสภาทนายความไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีที่ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแกกลุ่มนักศึกษา ถูกเจ้าหน้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงค้นรถเพื่อดูหลักฐานของกลุ่มนักศึกษา ซึ่งเบื้องต้นได้มีการประชุมใหญ่และจะเปิดเผยผลการตรวจสอบในภายหลัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง