"พล.อ.เลิศรัตน์" ยัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้หารือเรื่องตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

การเมือง
13 ก.ค. 58
09:01
110
Logo Thai PBS
 "พล.อ.เลิศรัตน์" ยัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้หารือเรื่องตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญระบุแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เป็นเพียงข้อเสนอจากบางฝ่ายเท่านั้น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เคยหารือกันในประเด็นนี้ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติเพื่อเปิดทางให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสข่าวที่สมาชิก สปช. จะเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อเข้ามาทำงานต่อจากรัฐบาล คสช.โดยให้บัญญัติในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมี สปช.บางส่วนออกมาให้ความเห็น เพราะใกล้จะหมดเวลาทำหน้าที่ แต่สำหรับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้หารือกันถึงเรื่องนี้ พร้อมยืนยันว่าการคำนวณคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้เอื้อต่อการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แต่เป็นการนับคะแนนเสียงตามความนิยมของพรรคการเมือง 

"คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้คุยถึงเรื่องของรัฐบาลแห่งชาติ ในส่วนของกฎ กติกา การได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี เราบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา โดยยังไม่ได้มีการพูดกันถึงรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งการที่มีข้อเสนอมานั้นถือเป็นเรื่องปกติที่หลายฝ่ายจะเสนอเข้ามาเพราะว่าขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญใกล้จะเสร็จสิ้น ส่วนระบบสัดส่วนผสมที่นำมาใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้และที่ใช้กันอยู่ในหลายประเทศนั้นไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นรัฐบาลแห่งชาติ แต่เกี่ยวกับเรื่องการที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามสัดส่วนที่ประชาชนเลือกพรรคนั้นเป็นสำคัญ"

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตนยังมองไม่ออกว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะเอื้อต่อการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติอย่างไร และยังไม่ได้มีการพูดคุยกันเป็นทางการ แต่ย้ำว่าหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ นอกจากจะต้องมีรัฐบาลแล้วจะต้องมีกลไกพิเศษเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองด้วย

"ผมก็ยังไม่มองไม่ออกว่ารัฐธรรมนูญจะไปเขียนให้มีรัฐบาลแห่งชาติได้อย่างไร โดยปกติการจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" นายคำนูณกล่าว

วันนี้  (13 ก.ค.25588) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดประชุมที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยจะเริ่มพิจารณาตั้งแต่ภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในมาตรา 217 ไปจนถึงบทเฉพาะกาล พร้อมกับนำมาตราที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีความเห็นไม่ตรงกันหรือพักการหารือไว้มาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในวันที่ 16 ก.ค.จากนั้นจะใช้เวลาที่เหลืออีก 2-3 วันในการทบทวนเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำงานที่ยึดตามกรอบเดิมที่ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ไม่เกินวันที่ 23 ก.ค.2558


ข่าวที่เกี่ยวข้อง