ธนาคารโลกหวั่นภัยแล้งกระทบบริโภคครัวเรือน "ภาคเกษตร" น่าห่วงสุด

เศรษฐกิจ
15 ก.ค. 58
16:42
110
Logo Thai PBS
ธนาคารโลกหวั่นภัยแล้งกระทบบริโภคครัวเรือน "ภาคเกษตร" น่าห่วงสุด

ธนาคารโลกห่วงปัญหาภัยเเล้งจะกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มภาคการเกษตร ขณะที่นักบริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่าเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยโดยคาดว่า เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.2-2.8

วันนี้ (15 ก.ค.2558) ในงานสัมมนา "ก้าวทันความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี 2558 จับทิศดอกเบี้ยและค่าเงิน" นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย นักบริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย มองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย รวมถึงปัญหาการใช้แรงงานในภาคประมงซึ่งอาจทำให้ไทยถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากยุโรปได้ ส่วนปัจจัยบวกคือภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง รวมถึงการเบิกจ่ายที่ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้และรัฐบาลมีการแก้กฎหมายทำให้การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในกลางปีหน้า ดังนั้น จึงคาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.2-2.8 ส่วนการส่งออกคาดว่าจะติดลบร้อยละ 1.7

สำหรับค่าเงินบาทคาดว่าจะอ่อนค่าลงอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่มองว่าจะอยู่ที่ 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด จะมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ด้านทิศทางดอกเบี้ยครึ่งปีหลังคาดว่าจะทรงตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ซึ่งมีความเหมาะสมและมีผลต่อค่าเงินบาทอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก

ขณะที่ น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก มองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะไม่แตกต่างจากครึ่งปีแรกมากนัก โดยคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 3-3.5 เเต่จะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับภาคการส่งออกด้วย ทั้งนี้คาดการณ์ว่าส่งออกน่าจะโตขยายร้อยละ 0-0.5  ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ขณะเดียวกันยอมรับว่าปัญหาภัยแล้งที่ยาวนานจะกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือนอยู่พอสมควร โดยเฉพาะภาคการเกษตรจะเป็นตัวฉุดการเติบโตของครึ่งปีหลังอยู่บ้างเพราะคนกลุ่มนี้มีหนี้สินครัวเรือนค่อนข้างสูงซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการใช้หนี้ซึ่งภาครัฐอาจจะต้องให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

สำหรับปัจจัยการเมืองในประเทศไทยที่จะมีการตั้งเป้าการเลือกตั้งมองว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจระยะปานกลาง และระยะยาว เพราะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง