ประมงพื้นบ้าน-เรือดำหอยจอบ ความขัดแย้งเพราะแหล่งทำกินเดียวกัน

23 ก.ค. 58
13:50
1,415
Logo Thai PBS
ประมงพื้นบ้าน-เรือดำหอยจอบ ความขัดแย้งเพราะแหล่งทำกินเดียวกัน

ความขัดแย้งของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านกับกลุ่มชาวประมงดำหอยจอบ ไม่สามารถตกลงกันได้ กลุ่มประมงพื้นบ้านประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งหอยจอบ จึงร้องเรียนรายการสถานีประชาชน เพื่อให้ช่วยประสานหน่วยงานของรัฐเร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว เนื่องจากเกรงว่าสัตว์น้ำชนิดอื่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว และเป็นแหล่งอาหารของชาวประมงอีกจำนวนมากจะสูญพันธุ์

ผลกระทบที่ได้รับตอนนี้เสียหายหรือเดือดร้อนขนาดไหน

นายปิยะ เทพแย้ม ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เรื่องหอยจอบไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมาตั้งแต่ปลายปี 2550 มีการดำหอยจอบที่อ.บางสะพาน แต่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ ไล่มาจนถึงอ.เมือง หมู่บ้านตาม่องล่าย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้วก็จะถูกผลักดันไปเรื่อย สุดท้ายมาอยู่ที่ปากน้ำปราณ แต่ก็ไม่ใช่ว่าชาวบ้านที่นั่นจะยอมรับ มีการกระทบกระทั่งจนนำไปสู่การกำหนดกติการ่วมกัน แต่เรื่องที่ชาวบ้านไม่ทำมีหลายเรื่อง เช่น 1.เรื่องสัตว์น้ำอพยพ 2.ลดอาชีพประมงเนื่องจากสัตว์น้ำอพยพ 3.เรื่องของเครื่องมือ

“แต่ที่เจ็บปวดที่สุดคือ ชาวบ้านไม่ใช่ไม่รู้ว่าหน้าบ้านตัวเองมีหอยจอบ แต่อุปกรณ์ที่มี เรามีเป็นเครือข่ายที่สามร้อยยอด กุยบุรี และอ.เมือง เรารู้เพราะเรามีบทเรียนว่า การดำหอยจอบ ทำลายห่วงโซ่อาหารขนาดไหน พี่น้องประมงสามพระเพลิงมีเรือ 913 ลำ ก็รู้ แต่ไม่เคยทำ แต่ที่พี่น้องปากน้ำปราณ ทำเป็นเครื่องมือมาจากจ.ตราด จ.ระยองส่วนใหญ่ และขยายความคิดไปยังปากน้ำปราณ”

มันไม่ใช่แค่ระบบห่วงโซ่อาหาร ทุกวันนี้พี่น้องที่ถูกอพยพต้องอพยพจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง เป็นลูกโซ่ เพราะว่าทุกวันนี้เป็นทะเลเปิด จากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง เบื้องต้นก็จะไปทำกินที่หมู่บ้านอีก แต่พื้นที่รองรับไม่พอ สิ่งที่อยากจะบอกคือวันนี้สามพระเพลิงไม่ดำหอยจอบ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่เขาไม่ทำ นี่คือเรื่องใหญ่ เพราะเขารู้อาชีพแบบนี้มันไปทำลายอาชีพอื่นๆ เราเสียเงินกับการปลูกปะการังเทียมเป็นจำนวนมาก เสียเงินกับการฟื้นฟูพันธ์สัตว์น้ำจำนวนมาก แต่ลืมที่จะรักษาแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่ธรรมชาติสร้างให้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นวันนี้เราควรตระหนักว่าเราจะใช้ทรัพยากรสัตว์ให้ยั่งยืนได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องใหญ่

ถ้าให้แก้ปัญหาตรงนี้จะแก้อย่างไร

นายฐกฤต ชลศิริ ชาวประมงดำหอยจอบ กล่าวว่า วิธีแก้ปัญหา เรารู้ความเป็นอยู่ของหอยจอบอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร หอยจอบกินแพลงตอนเป็นอาหาร กินปลากะตักเป็นอาหาร เพราะฉะนั้นมันแยกห่วงโซ่ชัดเจนอยู่แล้วว่าแตกต่างกัน และวิธีที่ทำมีหลักการอยู่แล้ว คือใช้ปั้มลมลงไปดำ มีนักประดาน้ำ วิธีการดำหอยจอบ คือดำด้วยมือใส่เรือขึ้นมา ซึ่งเป็นเรือตามพ.ร.บ.อยู่แล้ว และเอามาผ่าบนแพ ซึ่งก็เป็นชาวบ้านเป็นการกระจายรายได้ แล้วเอาเปลือกไปทิ้งที่ตามรกร้างที่มีใบอนุญาต เพราะฉะนั้นคิดว่าการดำหอยจอบเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เพิ่งเกิดมาใหม่ อยากให้ทุกคนคิดว่าอาชีพทุกอาชีพมันมีห่วงโซ่ของมัน ทุกๆ 12 เดือน ใช่ว่าจะไดหมึกตลอด ทำประมงล่อปลาอาจจะประมาณ 1-2 เดือน ไดหมึก 2-3 เดือน หอยจอบเป็นอาชีพที่ถูกไล่มา มันคือการหาพื้นที่ที่มีหอยจอบมันเป็นอีกอาชีพหนึ่ง อยากให้ช่วยหาแนวทางว่า จะทำประมงร่วมกันอย่างไร

หน่วยงานราชการมีแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

นายมนูญ ตันติกุล ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการทำประมงหอยจอบ กับความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านกับประมงหอยจอบ ในส่วนของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องหาทางให้มีการตกลงและมาพูดคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งในวันที่ 16 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา มีการประชุมกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มประมงพื้นบ้านต้องการให้กลุ่มทำประมงหอยจอบ ทำประมงออกจากชายฝั่ง 5 ไมล์ทะเล หลังจากนั้นกลุ่มหอยจอบได้มายื่นหนังสือให้กับท่านผู้ว่าฯ ก็ได้รับหนังสือ และจะมีการพูดคุยว่าทางกลุ่มหอยจอบจะใช้ระยะการทำประมงขนาดไหน ซึ่งทางกลุ่มประมงหอยจอบก็ได้ยื่นหนังสือ จะกำหนดพื้นที่จาก 500 เมตร 1,000 เมตร 1,500 เมตร ในบางพื้นที่ ซึ่งยังไม่ตรงกันกับชาวประมงพื้นบ้านที่ต้องการให้ทำการประมงออกไป 5 ไมล์ทะเล ส่วนประมงหอยจอบก็ต้องการทำประมงจาก 500 เมตร 1,000 เมตร 1,500 เมตร เพราะฉะนั้นยังหาจุดที่เจอกันไม่ได้ ดังนั้นวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทั้ง 2 กลุ่ม ได้มาเจอกัน เป็นเรื่องดีที่จะทำข้อตกลง เพื่อนำไปเป็นประกาศจังหวัด เพื่อตกลงร่วมกัน เพื่อจะขจัดความขัดแย้งทั้ง 2 กลุ่มเพื่อประโยชน์ร่วมกันและอยู่กันอย่างสันติ

การทำประมงหอยจอบทำให้สัตว์น้ำลดลงจริงหรือไม่

ด้านนายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หอยกาบเป็นหอยขนาดใหญ่ ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเล20 เมตร และเป็นสัตว์น้ำที่กินแพลงตอนพืช แพลงตอนสัตว์ แล้วก็สัตว์น้ำ ซึ่งจากผลสำรวจทางวิชาการพบว่า ที่ปราณบุรีมีหอยกาบเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจบางตารางเมตรหนาแน่นถึง 19 ตัว บางพื้นที่อาจจะ 1-2 ตัวต่อตารางเมตร พื้นที่ปราณบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ มองว่าการอยู่ร่วมกันเกิดผลกระทบแน่ สำหรับการทำงานร่วมกัน การทำงานของทั้ง 2 กลุ่ม ก็ยังไม่ได้มีการควบคุม กลุ่มหอยกาบก็สามารถทำประมงได้ในพื้นที่ ทางประมงพื้นบ้านก็สามารถทำประมงได้ในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องดีที่ทั้ง 2 กลุ่มมาตกลงร่วมกัน

นายฐกฤตกล่าวอีกว่า มันชัดเจนอยู่แล้วว่า เราใช้คนไปงม เพราะฉะนั้นไม่มีการใช้เครื่องมือ เป็นข้อมูลที่เข้าใจผิดกันมานานแล้ว การประมงของเราลงไปหยิบมาด้วยมือ แต่การที่คนลงไปในน้ำ ธรรมชาติของน้ำถ้ามีการเคลื่อนไหวก็จะขุ่นอยู่แล้วเป็นธรรมชาติ ไม่เกิน 10 นาที ก็จะตกตะกอน แต่จะมีลมเซิงซึ่ง 2-3 เดือน น้ำก็จะขุ่นเป็นเลน เป็นธรรมชาติ พอถึงเวลาน้ำก็จะปกติ มันเป็นระบบนิเวศของมันอยู่แล้ว

มั่นใจว่าการทำประมงหอยกาบ (หอยจอบ) ไม่ได้ส่งผลกระทบใช่ไหม

นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เครื่องมือตัวนี้ไม่ได้เป็นเครื่องมือในพิกัดใดๆกฎกระทรวงเกษตร เรื่องประมง เป็นการใช้แรงงานมือ เป็นแรงงานธรรมชาติ แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ปี 2556 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับการร้องเรียนจากชาวประมงพื้นบ้าน ร้องไปที่จังหวัด จังหวัดก็มอบให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร้องขอมาที่กรมทรัพยากรทางทะเลฯ เรามีหน่วยงานที่ดูแลอยู่ในพื้นที่จ.ชุมพร แต่ดูแลทะเลจ.ประจวบคีรีขันธ์อยู่ คือศูนย์วิจัยทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ก็มาสำรวจระยะเวลาหนึ่ง ดูว่าการใช้แรงงานคนในการทำหอยจอบมีผลกระทบอย่างไรบ้าง จากการสำรวจพบว่า ไม่ได้ทำให้สมดุลทางธรรมชาติเสียหายเท่าไหร่ แต่เป็นการสำรวจช่วงสั้นๆ เท่านั้น สัตว์น้ำสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ปกติ แต่ช่วงนั้น ณ สถานีที่เราไปตรวจสอบไม่มีความหนาแน่นของเครื่องมือ แต่ถ้าจะให้ชัดเจนต้องเฝ้าตรวจ เฝ้าระวัง สถานีนั้นๆ อย่างรอบคอบ แม่นยำ รัดกุม อาจต้องใช้เวลานาน ซึ่งข้อมูลอาจจะเปลี่ยนจากตรงนี้ก็ได้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดผลกระทบหรือไม่

อยากให้มีทางออกอย่างไร

นายปิยะ เทพแย้ม ชาวประมงพื้นบ้านจ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ได้ฟังหน่วยราชการพูดแล้วตกใจ ที่กังวลคือ วันนี้พูดเรื่องกฎหมาย พูดเรื่องวิชาการในระยะเวลาสั้นๆ แต่เราไม่ได้เกิดความวิตกกังวลหรือวิตกจริตไป เรามีประสบการณ์ คงจะได้ฟังจากพี่น้องประมงพื้นบ้านคั่นกะได พี่น้องตาม่องล่ายว่า หลังจากที่ปล่อยให้เรือดำได้ 2 เดือน แล้วเกิดอะไรกับหมู่บ้านที่นั่น มีบทเรียนมาแล้วว่า

ชาวประมงพื้นบ้านตาม่องล่าย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สิ่งแรกที่กระทบชัดเจนคือ เวลาที่คนจำนวนมากลงไปในทะเล สัตว์น้ำจะหนีหมด ลงไปก่อกวนแล้วหอยจอบเข้าอยู่กันเป็นแปลง พื้นที่ตรงไหนที่อุดมสมบูรณ์ไม่ว่าจะหอยจอบหอยลาย ตรงนั้นจะเป็นแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำอย่างดี ทรัพยากรตรงนั้นจะมีจำนวนมาก แต่ถ้ามีคนจำนวนมากๆ ลงไปกวนให้น้ำมันขุ่นลงไปหาหอยจอบ 1.ปลาจะหนี 2.เรือจำนวนมากๆ ที่เข้าไปจอดจองที่ดำหอย ทำให้ประมงพื้นบ้านเสียโอกาสจากการใช้ประโยชน์จากที่ตรงนั้น 1วันที่เขาดำ เราไม่สามารถออกเรือได้ พอเรือไปดำหอย หมึกไม่มี เรือหมึกก็หมดอาชีพ ต้องอพยพจากปากน้ำปราณมาคั่นกะได มาประจวบฯ ไล่ไปยังบางสะพาน เรือที่ออกหากินไม่ได้ก็ต้องอพยพครอบครัวไปหากินที่อื่น มันสะท้อนว่า เรามีบ้าน เราอยู่ที่บ้านแต่ไม่สามารถหากินที่บ้านได้ จากทรัพยากรที่มันหมดไป

“เราไม่ได้ปิดกั้นระหว่างเรือดำหอยจอบกับเรือประมงพื้นบ้าน เราก็เกิดการทำข้อตกลงมา 3 ฉบับ ฉบับที่ 1 ทำเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2557 ประมงหอยจอบกับประมงพื้นบ้าน ในการแบ่งเขตการทำมาหากิน มีผู้ประกอบการได้ลงชื่อรับทราบ ข้อตกลงว่าระดับทางทะเล 5,400 เมตร ให้ประมงพื้นบ้านหากิน แต่ 5,400 เมตร ข้างนอกให้ประมงหอยจอบหากิน แต่แล้วข้อตกลงที่ทำกับชาวบ้านทั้ง 3 ฉบับ ผู้ประกอบการดำหอยจอบไม่เคยทำตามข้อตกลง” ชาวประมงพื้นบ้านอีกคนหนึ่งกล่าว

มีแนวทางจะคลี่คลายเรื่องนี้อย่างไร

รองอธิบดีกรมประมงกล่าวต่อว่า เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ปราณบุรีเคยเป็นแหล่งที่หอยลายจำนวนมาก ก็ยอมรับความจริงว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างประมงหอยลาย กับประมงพื้นบ้านพอสมควร ปัจจุบันนี้พอเห็นเรือดำหอยกับเรือประมงพื้นบ้าน ก็มีผลกระทบเช่นกัน มองแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะไม่ยอมรับกฎกติกา เชื่อว่าถ้ามีกติกาชุมชน ภายใต้ข้อตกลงร่วมของทุกฝ่าย แล้วรักษากติกาสังคมเป็นสุข แต่ถ้าดำเนินการตามกฎหมาย ปัจจุบันยังไม่มี เคยมีประกาศจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่พอมองตัวบทกฎหมายและวิธีการทำงานของกลุ่มเรือหอยกาบ กับพี่น้องประมงพื้นบ้าน ไม่สามารถเข้ามาสู่ภายใต้กฎหมายนี้ได้ เชื่อว่ากติกาสังคมที่พูดคุยกันน่าจะดีที่สุด ถ้ากติกาสังคมไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ ก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย ให้เวลาพอสมควรในการออกประกาศ เช่น จะมีคณะกรรมการภาคีของจังหวัด ซึ่งมีส่วนได้เสียของพื้นที่ มาประชุมร่วมกัน และหาทางบริหารจัดการการประมงหน้าบ้านตัวเอง ของจังหวัดประจวบฯ ว่า เคยประกาศมาแล้วในพื้นที่ 5,400 เมตร ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เช่นเดียวกันหากเกิดกรณีมีปัญหาสามารถออกเป็นกฎบังคับใช้ได้ เชื่อว่าจะเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำได้ แต่ไม่อยากให้ถึงขั้นนั้น แต่ให้มีการตกลงระหว่างชุมชนก่อน

ทำไมถึงไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้

ขณะที่นายฐกฤตกล่าวว่า ข้อตกลงนี้เริ่มมา 2-3 ปีแล้ว แต่หอยมีระยะเวลาการเจริญเติบโตอยู่ 1-2 ปีอยู่แล้ว ดำหอยก็ต้องมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ข้อตกลงเริ่มจากปากน้ำปราณ คิดว่าทะเลมันเป็นพื้นที่สาธารณข้อตกนี้ถือว่าเรายกเลิกกันไป ยิ่งเราลงไปแล้วมันหาไม่ได้ คิดว่าทะเลเป็นที่สาธารณะ คนไทยทุกคนมีสิทธิจะใช้ทะเลส่วนไหนก็ได้ โดยเป็นธรรม โดยเสรี โดยข้อกฎหมาย ซึ่งการจับหอยมีมาตรการจับสัตว์น้ำด้วยมืออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคิดว่าถ้าหน่วยราชการมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก็จะยอมรับ ถ้ามาตรการนี้ออกมาจริงๆ การประมงหอยจอบทุกลำก็ต้องหยุดการดำ ถ้าส่งผลต่อระบบนิเวศจริง การที่ต้องอพยพย้ายที่เกิดจากน้ำขุ่นใสไม่เท่ากัน หอยก็จะลดลง แต่จะแบ่งเป็น 3 โซน เป็น A B C ถ้าไปดำในอ่าวบี อ่าว A ก็จะใช้เวลาเกิด 1 ปี แต่ถ้าไปดำในอ่าว C อ่าว A อ่าว B ก็จะใช้เวลาในการเกิด 2 ปี ฉะนั้นการเก็บหอยเดี๋ยวก็จะกลับไปเก็บที่แหล่งเดิมอีก เพราะหอยเจริญเติบโตได้ ดังนั้นสัตว์น้ำทุกชนิดมีการเจริญเติบโต ไม่ใช่ว่าจะสูญพันธ์ไปเลย

“ฟังแล้วเหมือนกับว่าไม่ให้โอกาสกับอีกกลุ่มหนึ่งเลย มองว่าทางประมงหอยเอาสิ่งที่คิดว่าถูกไปดำเนินการ กติกาสังคมเลยไม่เกิด ถ้าคุยแบบไม่อยู่ในกติกาก็จะเป็นแบบที่คุณฐกฤตพูด แต่ถ้าคิดว่าการอยู่ร่วมกันทำมาหากินกันอย่างมีความสุข เชื่อว่ามันไปได้ ถ้าอะไรก็ทำอะไรไม่ได้มุมมองนี้จะเป็นภาพลบกับเรือเก็บหอย ต้องให้โอกาสอีกกลุ่มหนึ่งด้วยว่า การอยู่อย่างสันติสุขมันเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องถูกหมด คุณปิยะก็มีอาชีพของเขา คนเป็นพันคนลงพื้นที่เดียวกันมันต้องมีผลกระทบอยู่แล้ว 1.กระทบเรื่องอาชีพ นี่เห็นชัดเจน เขาทำอะไรได้เลย แต่ให้อากาศทางเรือหอย แต่วิธีการให้โอกาสนั้นผมอยากให้มันตกผลึก โดยพี่น้องประชาชนมากกว่า ไม่ใช่ให้รัฐแล้วอ้างเชื่อรัฐ เชื่อว่าฐานที่แข็งแรงจริงมาจากชุมชน” รองอธิบดีกรมประมงกล่าว

จากนั้นตัวแทนประมงกลุ่มหอยจอบกล่าวเสริมว่า ถ้าเขาเอาเรือเฝ้าบริเวณนั้น ก็คงจะไม่ไปดำที่มีเรือเฝ้าท คำว่าดำหอยทั้งวันเต็มที่ออกตี 5 พอน้ำเชี่ยวมากน้ำขุ่นมากก็ดำไม่ได้ ตั้งแต่พื้นที่เหนือลงใต้เรือร้อยกว่าลำ จะทำให้น้ำขุ่น คิดว่าไม่เกิน10 วินาที น้ำก็เจือจาง น้ำเชี่ยวมากก็ยิ่งเจือจางเร็ว แล้วหอยถ้าน้ำเชี่ยวเกินจะดำไม่ได้ แล้วก็อยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ต้องส่ายให้พื้นที่ทรายจางลงไป ส่วนมากเรือประมงพื้นมีจำนวนมาก พอถึงเดือนก.พ.ก็จะลงใต้กันหมด ไปทำหมึกด้านใต้ คิดว่าปัญหาร่วมกันแก้ได้ ไม่ใช่ว่าตั้งหน้าตั้งตาดำ ถ้าดำของเสียหายก็เอาหลักความจริงมาแก้ไขกัน มาช่วยกันแก้ไข เพราะว่าเรือนี้เป็นเรือประมง จะรู้ว่าคนนี้ลากตรงนี้ เช่นถ้าเขามาเฝ้าที่เขาก็จะรู้แล้วว่าอยู่ตรงนี้ ถ้าเรือลำไหนทำเสียหายสามารถคุยกันได้ แต่น้อยใจที่เขาว่าลงไปทำให้น้ำขุ่น ทุกอย่างที่ลงไปกระทบดินทำให้น้ำขุ่นหมด แต่มันจะตกตะกอนไปด้วยระบบนิเวศของมันเอง อยู่ร่วมกันได้ แต่ว่าประมงทั้ง 2 ฝ่าย ต้องคุยกัน

อธิบายเรื่องนี้หน่อย

นายโสภณกล่าวอีกว่า เข้าใจเครื่องมือการทำมาหากินทั้ง 2 ฝ่าย แต่เนื่องจากเครื่องมือตัวนี้ไม่ได้อยู่ในพิกัดในกฎหมายใดๆ เบื้องต้นต้องใช้กติกาสังคม มองว่าระยะสั้นกับระยะยาวควรทำอย่างไร ระยะสั้นควรมีเครื่องมือทำมาหากินหอยจอบเป็นธรรมาภิบาล โดยใช้กติกาสังคมซึ่งออกร่วมกันระหว่างเรือหอยจอบกับประมงพื้นบ้าน เช่นต้องออกไปจากชายฝั่งกี่ 5 กิโลเมตร เรือต้องใช้บุคลากรสมมุติว่าไม่เกิน 2 คน ต่อ 1 ลำ พื้นที่ตรงนั้นจะให้ได้กี่ลำ หรือฤดูกาล อีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าฤดูมรสุม ช่วงนี้มาวางกติกาก่อนว่าจะอยู่กันอย่างไร ที่จะไม่ทะเลาะกัน แต่อีกทางหนึ่งคือทางกรมประมงก็จะส่งทีมลงมาช่วยศึกษาว่า การทำประมงหอยจอบมีผลกระทบจริงไหม ถ้าจริงก็ต้องเข้ากระบวนการนำสู่ขั้นตอนกฎหมาย ประกาศจังหวัดจะเร็วกว่ากฎหมาย อยากจะเรียนว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีกฎหมายฉบับแรกจะมีผลบังคับใช้แล้ว ในมาตรา 23 ให้อำนาจในการกำหนดมาตรการสงวนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในระดับที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่มีปัญหาว่ากฎหมายตัวนี้ต้องมาจากคณะกรรมการจังหวัด ประกอบไปด้วย ภาคราชการประมาณครึ่งหนึ่ง และมีภาคประชาชนมาเป็นผู้แทนร่วมด้วย คณะกรรมการจะเป็นคนออกกฎหมายข้อนี้ว่า พ้นที่หน้าปราณบุรีมันมีปัญหาอย่างไร จากการทำประมงหอยจอบ เพื่อนำเสนอมาตรการชุดใหญ่ ตามมาตรา 5 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และปลัดกระทรวงอีก 11 ท่าน เป็นรองประธาน แต่ค่อนข้างช้า เพราะผ่านกระบวนการมาก สิ่งที่เร็วที่สุดคือประกาศจังหวัด แต่ก่อนจะถึงประกาศจังหวัด ต้องคุยก่อน โดยใช้ธรรมาภิบาลในการทำมาหากินร่วมกันดีกว่า

ขณะที่นายปิยะ เทพแย้ม ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า สิ่งที่ท่านพูดมาน่าสนใจเรื่องของเครื่องมือที่อยู่ในพิกัด ซึ่งมองว่าตอนนี้พี่น้องตามชายฝั่งล้ำหน้าไปขนาดไหน การฟื้นฟูการดูแล แล้วรู้ด้วยว่าทรัพยากรมีอยู่หน้าบ้านตัวเองแต่ไม่ทำ อันนี้น่าคิด ว่าราชการจะทำอย่างไร ในขณะที่พี่น้องชายฝั่งล้ำหน้าไปแล้ว แต่ราชการยังคิดไม่ถึง ฝากไปคิดว่าท่านจะทำอย่างไร เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาบอกเลยว่า กฎกติกาเชื่อถือไม่ได้ 2.ทุกวันนี้วิธีการดำหอยจอบใช้เครื่องปั้มลมลงไปดำ วันนี้คิดดีแล้วหรือที่จะเอาหอยจอบตัวยาวเป็นฟุตทั้งตัวเพื่อสะดืออันเดียว เปรียบเทียบคือเราจะทำลายทะเลเพื่อดำหอยจอบตัวละ 30 ฟุต แต่เรากินสะดืออย่างเดียว วิธีการจับหอยจอบก็คือ ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการดำหอยจอบไม่ต่ำกว่า 25 ศพ เพราะการดำหอยจอบต้องใช้ปั้มลม แล้วคนที่ไปอยู่ในนั้นไม่ใช่ 5 นาที 10 นาที แล้วขึ้นฝั่ง อยู่ในนั้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง จนกระทั่งครึ่งวัน เมื่อได้หอยเต็มที่จึงเข้าฝั่ง แล้วมีข่าวเป็นระยะว่าคนที่ไปดำในนั้นเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 25 ศพ และไม่พบศพอีกมาก เพราะว่าใช้ตะกั่วถ่วงเอว 30 กิโลกรัม ถ้าเสียชีวิตในนั้นไม่สามารถนำขึ้นมาได้

กรองกมล ปีติภพ
นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง