นักวิชาการท้วงข้อมูลเวทีค.3 โรงไฟฟ้าเทพา ท่าเรือทำชายฝั่งกัดเซาะ-ก่อมลพิษสัตว์ทะเล

สิ่งแวดล้อม
28 ก.ค. 58
15:04
216
Logo Thai PBS
นักวิชาการท้วงข้อมูลเวทีค.3 โรงไฟฟ้าเทพา ท่าเรือทำชายฝั่งกัดเซาะ-ก่อมลพิษสัตว์ทะเล

นักวิชาการท้วงข้อมูลโรงไฟฟ้าเทพา ระบุหลายประเด็นส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น กรณีน้ำน้ำทะเลไปหล่อเย็น จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ส่วนการป้องกันเพรียงเกาะที่เสาท่าเรือน้ำลึก สารเคมีที่ใช้จะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชังอย่างแน่นอน เหมือนกับโรงฟ้าจะนะ

วันนี้ (28 ก.ค.2558) ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังความเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลประทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครั้งสุดท้าย (ค.3) โครงการท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ว่า ในการจัดเวทีตั้งแต่ค.1จนถึงค.3 ควรมีความรอบคอบมากกว่านี้ เช่น ควรมีค.0ก่อน เพื่อให้ความรู้กับประชาชน และเมื่อรับฟังความคิดเห็นในเวทีค.1แล้ว ในการจัดเวทีค.2 ซึ่งเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยก็ควรดำเนินการให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งขั้นตอนนี้ในเวทีที่เทพาจัดรวบรัดเกินไป เพราะใช้เวลาเพียง 9 เดือนก็จัดเวทีค.3 ทั้งๆ ที่ยังมีความขัดแย้งในพื้นที่อยู่ ขณะเดียวกันในเวทีค.3 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ไม่แตกต่างจากเวทีค.1 สักเท่าไหร่

ดร.สมพรกล่าวว่า ในเวทีครั้งนี้ตนได้สอบถามในหลายประเด็นคือ 1.เรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะดูตามแผนที่ผู้จัดทำเขียนนั้น เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งแน่นอน โดยแนวกันคลื่นที่วางแผนที่ระบุว่า ใช้ดูดน้ำทะเลเพื่อหล่อเย็นนั้น จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นคือท่าเทียบเรือสงขลา 2.นักวิชาการที่ทำ HIA หรือ EHIA ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับชาวบ้านไปตลอด เมื่อทำเสร็จก็กลับไป ในอนาคตหากชาวบ้านมีปัญหาจะหันหน้าไปพึ่งใคร 3.การดูดน้ำถ้ามีการป้องกันเพรียงไม่ให้เกาะก็ต้องใช้สารเคมี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปลาในกระชัง ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้วในโรงไฟฟ้าจะนะ 4.การปล่อยน้ำเย็นลงไปในทะเลจะส่งผลกระทบเป็นทอดๆ 5.ควรมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้เพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบว่าในอนาคตชาวบ้านยังจะมีความสุขอยู่หรือไม่ 7.ควรมีคณะกรรมการขึ้นมาติดตาม EIAและEHIA

“การที่ผมตั้งคำถามต่างๆ ออกไป ไม่ได้หมายความว่า ผมยอมรับให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา เพราะผมพูดเอาไว้ตั้งแต่วันแรกแล้วว่า เราควรมีทางเลือกอื่นอีก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ยิ่งโรงงานแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าถึง 2,200 เมกะวัตต์ ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ” ดร.สมพร กล่าว

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง