‘เดชรัตน์ สุขกำเนิด’ วิเคราะห์ให้เห็นชัดชัด กำลังผลิตไฟฟ้าภาคใต้ปีพ.ศ.2562 พอ-ไม่พอ

สังคม
31 ก.ค. 58
07:01
429
Logo Thai PBS
‘เดชรัตน์ สุขกำเนิด’ วิเคราะห์ให้เห็นชัดชัด กำลังผลิตไฟฟ้าภาคใต้ปีพ.ศ.2562 พอ-ไม่พอ

ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ คำนวณตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาวะปกติของภาคใต้ ในช่วงที่มีความต้องการสูงสุด กำลังการผลิต ทั้งผลิตเองและเชื่อมโยงจากภาคอื่นๆ การอนุรักษ์พลังงาน ไปจนถึงกำลังไฟฟ้าสำรองที่คาดว่าจะเหลืออยู่

วันนี้ (31 ก.ค.2558) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เขียนข้อความลงในเฟซบุ๊ค Decharut Sukkumnoed ถึง “ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ในปี พ.ศ.2562” ว่า

ข้อถกเถียงสำคัญประการหนึ่งในความขัดแย้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ. ที่จ.กระบี่ และที่ อ.เทพา จ.สงขลา คือ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ เพราะกำลังการผลิตสำรองในภาพรวมของทั้งประเทศในระยะ 10 ปี ที่จะถึงนี้ จะเหลือเกิน (ร้อยละ 30-40 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด) กว่ามาตรฐานในการวางแผนระบบไฟฟ้ามาก (ค่ามาตรฐานคือร้อยละ 15) ดังนั้น ข้อถกเถียงจึงมุ่งเป้ามาที่ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้เป็นสำคัญ

ทางกฟผ. มีความเป็นห่วงว่า ระบบไฟฟ้าของภาคใต้จะไม่มั่นคงในปีพ.ศ.2562 เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น บทความนี้จึงจะฉายภาพระบบไฟฟ้าของภาคใต้ ทั้งกำลังการผลิตและความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี พ.ศ.2562 (หรืออีก 4 ปีข้างหน้า) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญสำหรับการถกเถียงกันในเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป

ในปีพ.ศ.2562 ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 3 โรงคือ โรงไฟฟ้าจะนะ 1 (710 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าจะนะ 2 (800 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้าขนอม (930 เมกะวัตต์ ซึ่งจะแล้วเสร็จแล้วใช้ทดแทนโรงไฟฟ้าขนอมเดิมในปี พ.ศ.2559) รวมทั้งหมดมีกำลังการผลิต 2,440 เมกะวัตต์ ถือเป็นกำลังหลักของกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้

ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่งคือ เขื่อนรัชประภา (240 เมกะวัตต์) เขื่อนบางลาง (72 เมกะวัตต์) และเขื่อนบ้านสันติ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 313 เมกะวัตต์ ไม่รวมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก

ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล 2 โรงคือ โรงไฟฟ้าน้ำมันเตากระบี่ (340 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สสุราษฎร์ธานี (234 เมกะวัตต์) รวมกัน 2 โรงเท่ากับ 574 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งมักจะเดินเครื่องเป็นโรงไฟฟ้าเสริม เพราะมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูง แต่ยังสามารถใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นได้

ภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ขายเข้าระบบแล้ว 221 เมกะวัตต์ (จากกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 249 เมกะวัตต์ เพราะบางส่วนจะใช้ในโรงงานของตนเอง) รวมกับที่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วอีก 284 เมกะวัตต์ รวมเป็นการคาดการณ์กำลังการผลิตที่ขายเข้าระบบ 505 เมกะวัตต์ (ไม่ได้รวมผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญารับซื้ออีก 197 เมกะวัตต์ ถ้ารวมด้วยกำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 702 เมกะวัตต์) (หมายเหตุ ข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ณ เดือนกรกฎาคม 2558)

เมื่อรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก 4 แหล่งเข้าด้วยกัน ภาคใต้จะมีกำลังการผลิตในระบบทั้งหมดในปีพ.ศ.2562 เท่ากับ 3,832 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ภาคใต้ยังมีระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ จากภาคกลาง ที่ใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบันหนึ่งวงจร (ส่งไฟฟ้าได้ 650 เมกะวัตต์) และที่กำลังดำเนินการสร้างใหม่อีก 500 กิโลโวลท์ (ส่งไฟฟ้าได้ 650 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2562) และสายส่งเชื่อมโยงไทย-มาเลเซีย ซึ่งส่งไฟฟ้าได้อีก 300 เมกะวัตต์ รวมระบบสายส่งที่มาช่วยเสริมหนุนกำลังการผลิตในพื้นที่ได้อีก 1,600 เมกะวัตต์ (แต่ยังมิได้รวมเข้าไว้ในกำลังการผลิตของภาคใต้ เพราะถือเป็นส่วนเสริม)

ในด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปีพ.ศ.2557 เท่ากับ 2,468 เมกะวัตต์ โดยจังหวัดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้แก่ สงขลา (482 เมกะวัตต์) สุราษฎร์ธานี (370 เมกะวัตต์) ภูเก็ต (359 เมกะวัตต์) และนครศรีธรรมราช (331 เมกะวัตต์) ตามลำดับ โดย 4 จังหวัดนี้ ใช้ไฟฟ้ารวมกันเท่ากับ 62.5 % ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดทั้งภาค

ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของจังหวัดต่างๆ ได้ใส่ไว้ในตัวเลขสีแดง โดยจังหวัดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดคือ นราธิวาส (71 เมกะวัตต์) สตูล (56 เมกะวัตต์) และระนอง (48 เมกะวัตต์) ข้อมูลความต้องการไฟฟ้าสูงสุดนี้ได้จากฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ต่อมาจึงเป็นการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ในปีพ.ศ.2562 โดยกำหนดให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 5.7 % ตามแนวโน้มที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้ในปีพ.ศ.2562 จะเท่ากับ 3,256 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจะมีการปฏิบัติตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป้าหมายในการอนุรักษ์พลังงานของภาคใต้ในปีพ.ศ.2562 เท่ากับ 170 เมกะวัตต์ ฉะนั้นหากภาคใต้ดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมาย ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ในปีพ.ศ.2562 ก็จะลดลงเหลือ 3,086 เมกะวัตต์

จากกำลังการผลิตทั้งหมดของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ 3,832 เมกะวัตต์ (ไม่รวมระบบสายส่ง) และความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้ 3,256 เมกะวัตต์ (ไม่หักลดการอนุรักษ์พลังงาน) ในปีพ.ศ.2562 กำลังการผลิตสำรองทั้งหมดของภาคใต้จะเท่ากับ 576 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับร้อยละ 17.7 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด โดยไม่รวมการเสริมหนุนจากระบบสายส่ง

แต่หากเราหักลดการอนุรักษ์พลังงานตามแผนฯ ด้วย (ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเหลือ 3,086 เมกะวัตต์) ภาคใต้จะมีกำลังการผลิตสำรองเป็น 746 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด

แม้ว่าโดยทั่วไปในการวางแผนระบบไฟฟ้าของไทย เราจะถือว่า ระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคงเมื่อมีกำลังการผลิตสำรองเกินกว่าร้อยละ 15 แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ในโพสต์หน้า เราจะคำนวณกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้ (Dependable capacity) ของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท (เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำอาจมีปริมาณน้ำจำกัด ทำให้เดินเครื่องได้ไม่เต็มที่) และจำลองสถานการณ์ในกรณีที่โรงไฟฟ้าโรงใดโรงหนึ่งเกิดหายไปจากระบบไฟฟ้าอย่างกระทันหัน เพื่อทำให้การถกเถียงกันเรื่องความไม่จำเป็นของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือทางเลือกอื่นๆ ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลเดียวกันให้มากที่สุด

เพราะฉะนั้น หากเพื่อนๆ พี่น้องท่านใดจะมีข้อมูล คำแนะนำ หรือคำถามประการใด ที่อยากให้แก้ไข/เพิ่มเติม/ชี้แจง สามารถแจ้งได้เลยครับ เราจะพยายามรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ มาปรากฏอยู่ในชุดข้อมูลที่ตรงกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ แล้วเดี๋ยวโพสต์หน้าเราจะไดถกเถียงแสดงความเห็นเรื่องความจำเป็น/ไม่จำเป็นของโรงไฟฟ้าถ่านหินกันได้เต็มที่ครับ

หมายเหตุ ดูแผนภาพตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังผลิตในภาคใต้ ได้ที่หน้าเพจ ThaiPBSNews
คลิก https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง