กอ.รมน.ชี้แจงเปลี่ยนถังแก๊สชายแดนใต้ จากถังเหล็กเป็นถังคอมโพสิตพลัสเพื่อความปลอดภัย

ภูมิภาค
3 ส.ค. 58
10:36
340
Logo Thai PBS
กอ.รมน.ชี้แจงเปลี่ยนถังแก๊สชายแดนใต้ จากถังเหล็กเป็นถังคอมโพสิตพลัสเพื่อความปลอดภัย

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงการเปลี่ยนถังแก๊สในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อป้องกันการนำไปประกอบระเบิดสร้างความเสียหายในพื้นที่

วันนี้ (3 ส.ค.2558) พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวให้มีการเปลี่ยนถังบรรจุแก๊สชนิดคอมโพสิตพลัสเพื่อป้องกันผู้ก่อเหตุนำถังแก๊สแบบเหล็กไปประกอบระเบิดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจและเร่งรัดดำเนินการแล้ว

โดยสรุปได้ว่าให้บริษัทผู้ประกอบการนำถังแก๊สคอมโพสิตมาใช้แทนถังเหล็ก โดยการทยอยเปลี่ยนทดแทนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2559 ซึ่งบริษัท ปตท. พร้อมดำเนินการได้แล้ว ในส่วนของบริษัทอื่นๆ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ทำบันทึกข้อตกลงมอบหมายให้ผู้ประกอบการรายอื่นดำเนินการแทน และให้ทยอยเรียกคืนถังเหล็กจากผู้บริโภคให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2559 และให้มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายถังแก๊สเหล็กเข้าและออกนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ให้มีการควบคุมสถานีบริการบรรจุแก๊สและสถานีบริการแก๊สรถยนต์เพื่อไม่ให้มีการลักลอบบรรจุน้ำแก๊สข้ามแบรนด์ และไม่ให้มีการบรรจุแก๊สลงถังแก๊สหุงต้มในสถานีบริการแก๊สรถยนต์ ตั้งแต่ 1 ส.ค.2558 เป็นต้นไป

สำหรับคุณสมบัติของถังเหล็กที่ใช้กันทั่วไปจะมีน้ำหนักมาก แข็งแต่เปราะ เคลื่อนย้ายยาก เป็นสนิม อายุการใช้งานอย่างมาก 10-15 ปี แต่ข้อดีคือราคาถูกเมื่อนำมาบรรจุระเบิดด้วยความแข็งแต่เปราะ ตัวถังเองจะกลายเป็นสะเก็ดชั้นดีนอกจากสะเก็ดที่บรรจุภายในการระเบิดจะสร้างความเสียหายวงกว้าง

ส่วนถังแก๊สคอมโพสิตราคาสูงกว่า น้ำหนักเบากว่า ใช้งานได้ 20 ปีขึ้นไป ไม่เป็นสนิม แต่คุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการระเบิด เคยทดสอบโดยหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัยพบว่ายิงทะลุแต่ไม่ระเบิด สะเก็ดระเบิดขนาดเล็ก ตัวถังเองเป็นลักษณะฉีกขาด ทำให้การกระจายไม่กว้าง เวลาที่ระเบิดทำงานอาจจะมีอุณหภูมิสูงถึง 3,000-5,000 องศาเซลเซียส ตัวถังส่วนหนึ่งจะละลายไปก่อน ลดความสูญเสียได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง