ศาลฎีกาฯรับฟ้องคดี"บุญทรงและพวก"ระบายข้าวแบบจีทูจี

การเมือง
19 เม.ย. 58
13:53
187
Logo Thai PBS
ศาลฎีกาฯรับฟ้องคดี"บุญทรงและพวก"ระบายข้าวแบบจีทูจี

องค์คณะผู้พิพากษา ในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวกรวม 21 คน ฐานทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาแล้ว พร้อมนัดคู่ความพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 29 มิถุนายนนี้

องค์คณะผู้พิพากษา ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวม 9 คน ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์,นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวกรวม 21 คน ฐานทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ประชุมเป็นการภายในและได้ข้อสรุปร่วมกันให้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีแล้ว

นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า องค์คณะผู้พิพากษา มีมติเอกฉันท์ เห็นว่าสำนวนคดีอยู่ในขอบข่ายอำนาจที่จะรับไว้พิจารณา เพราะครบองค์ประกอบความผิด และเห็นควรนัดพิจารณาคดีครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การจำเลย เวลา 09.30 น.ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้

ขณะเดียวกันนายธนฤกษ์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าของสำนวนคดีซึ่งจะทำหน้าที่รับผิดชอบสำนวนโดยต้องอ่านคำฟ้อง อ่านคำให้การของโจทก์ จำเลยและพยาน ตั้งแต่เริ่มต้นพิจารณาคดีไปจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาในคดีนี้

สำหรับองค์ณะผู้พิพากษา รวม 9 คนในคดีนี้  ประกอบด้วย นายธนฤกษ์ นิติเศรณี, นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ , นายวิรุฬห์ แสงเทียน , นางทัศนีย์ จั่นสัญชัย ธรรมเกณฑ์, นายชีพ จุลมนต์, นางพฤษภา พนมยันตร์, นายวีระพล ตั้งสุวรรณ, นางนวลน้อย ผลทวี และ นายอภิรัตน์ ลัดพลี

สำหรับข้อกล่าววหาที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายบุญทรงและพวกนั้น ระบุถึงการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือฮั้วประมูล ปี 2542 มาตรา 4 , 9 , 10 , 12 และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจโดยทุจริต สร้างความเสียหายแก่รัฐ และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต สร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด รวมถึงการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2542 มาตรา 4 , 123 และ 123/1 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง