ชี้อย่าใช้“รอยสัก-เจาะหู”ตัดสินพฤติกรรมวัยรุ่น แก้ปัญหาผิดทาง-ถือเป็นการปิดกั้นโอกาส

สังคม
8 ส.ค. 58
09:01
1,208
Logo Thai PBS
ชี้อย่าใช้“รอยสัก-เจาะหู”ตัดสินพฤติกรรมวัยรุ่น แก้ปัญหาผิดทาง-ถือเป็นการปิดกั้นโอกาส

หลังจากที่สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย มีมติไม่รับเด็กที่มีรอยสัก-ระเบิดหูเข้าเรียน เริ่มในปีการศึกษา 2559 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกันกรณีที่มีกลุ่มบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีแอบแฝงเป็นนักศึกษาและก่อเหตุทะเลาะวิวาท

นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยอ้างว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่พยายามผลักดันในการแก้ไขปัญหา"นักเรียน-นักเลง" ที่กำลังเกิดขึ้นแต่ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการใช้มาตรการดังกล่าวด้วยเช่นกัน

(วันที่ 8 ก.ค.2558) นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวเนื่องจากวงการศึกษาไทยกำลังสื่อไปยังสาธารณะว่า โอกาสทางการศึกษาของเยาวชนผูกติดกับรอยสัก-เจาะหู ซึ่งอาจเกิดความเข้าใจว่าเด็กกลุ่มนี้คือกลุ่มเยาวชนที่มีปัญหาหรือมีแนวโน้มสร้างปัญหาสิ่งเหล่านี้ อาจไม่เหมาะสมในสายตาผู้ใหญ่ แต่ไม่ใช่เรื่องของความเลว ดี โง่ หรือฉลาดแน่นอน หากเป็นห่วงและปรารถนาดีต่อเยาวชนผู้รับผิดชอบทางการศึกษาควรใช้แนวทางที่เหมาะสมในการจัดการ เช่น เปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์อย่างจริงจังและสม่ำเสมอให้เป็นวิถีปกติของระบบการศึกษา

“บางครั้งความปรารถนาดีของผู้ใหญ่ที่มากเกินไป ก็ได้ทำหน้าที่ผลักเยาวชนให้หลุดพ้นไปจากสายตาเพราะไม่มีเยาวชนคนใดอยากเข้าใกล้ผู้ใหญ่ที่ตีกรอบความดี ความงาม ความถูกผิดที่คับแคบ เพราะมันอึดอัด เข้าใจว่าพ่อแม่ของผู้เรียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากให้ลูกหลานสักร่างกายหรือเจาะหู ผู้เรียนอีกจำนานมากก็อาจไม่สนใจการสักการเจาะหูเลย แทนที่เด็กจะมีทางเลือก กลายเป็นว่าเขาไม่มีทางเลือกมันก็จะกลายเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งหากมีการปิดทางไม่ให้เขามาทางนี้ แล้วจะให้เขาไปทางไหน เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ฉะนั้นผู้รับผิดชอบทางการศึกษาต้องไม่เลือกวิธีตัดโอกาส แต่ควรใช้วิธีการให้ข้อมูลและเปิดทางให้เยาวชนคิดด้วยตนเอง ที่สำคัญต้องทำด้วยความเข้าใจในทางเลือกที่แตกต่างและเมตตาต่อเยาวชนและคนร่วมสังคม” นางทิชากล่าว

ขณะที่นายสิริภาส ภิรมย์รักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ไม่ได้มองว่าเด็กที่สักจะเป็นเด็กมีปัญหา ต้องดูพื้นฐานครอบครัว สังคมที่เขาอยู่ กลุ่มเพื่อนก็มีส่วนสำคัญจึงไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาการทะเลาะวิวาทลดลง ควรมีทางออกที่ดีและสร้างสรรค์กว่านี้ ดาราหลายคนที่มีรอยสักก็เป็นไอดอลของเยาวชนมากมายและเขาก็ยังเป็นตัวอย่างที่ดีได้ การสัก การเจาะเป็นความชอบส่วนบุคคล สามารถทำได้เมื่อถึงเวลา

นายจิรายุส ยีสมัน นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ 5 กล่าวว่า ไม่ได้มองว่าสายอาชีวะเป็นสายการเรียนที่สร้างปัญหา หากต้องเข้าไปเรียนก็กังวลเหมือนกันว่า เราไม่ได้เป็นกลุ่มที่ทะเลาะวิวาท หรือเกเรแต่ก็ถูกตีตราจากสังคม พฤติกรรมที่ไม่ดีเกิดขึ้น เฉพาะบางกลุ่มบางคน สังคมไม่ควรเอาเรื่องนี้มาตัดสิน

“วันหนึ่งผมก็อาจจะสัก อาจจะเจาะหูก็ได้ ไม่ใช่ว่าผมจะเป็นคนไม่ดี และหากวันหนึ่งผมเรียนวิศวะตามที่ผมฝันได้เกรดดี เป็นคนดี แต่คนอื่นก็มองผมไม่ดีเพราะมีรอยสัก ก็คงไม่รู้สึกไม่ดีถ้าเขามองแต่รูปลักษณ์ภายนอกซึ่งไม่เห็นด้วย ไม่ใช้ทางแก้ให้ปัญหาลดลง แต่ทำให้ปัญหายิ่งแก้ยากขึ้น” นายจิรายุสกล่าว

นายเทวกฤต ตั้งมาฮวดไช้ อดีตนักศึกษาวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน กล่าวว่า การตัดสินว่าคนที่มีรอยสัก เจาะหูเป็นคนไม่ดี เหมือนเป็นการไปกล่าวหาเขา ไม่ให้เขามีโอกาสอยู่ในสังคม ส่วนหนึ่งดีหรือไม่ดีอยู่ที่ครอบครัวและสังคม ที่เขาอยู่ หรือจิตสำนึกของเขาเองมากกว่า ควรหาทางออกด้วยวิธีการอื่น ทำกิจกรรมปลูกฝัง สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์กับสังคมให้จริงจังมากขึ้นจะดีกว่า มีคนที่เขาตั้งใจเรียนอยากเรียนจริงๆ เพื่อจบไปประกอบอาชีพในสิ่งที่เรียนมาได้ เขาก็ต้องถูกมองถูกตีตราความดี ความชั่วด้วยเหตุผลนี้มันก็ไม่ยุติธรรมกับเขา

นายพัฐชญาณ์ เนตรอาภา ผู้ที่ชื่นชอบการสัก กล่าวว่า ส่วนตัวมีความชื่นชอบในการสักอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีความคิดที่จะสักในขณะเรียนหนังสือ จนถึงปัจจุบันนี้ตนได้เรียนจบแล้วถึงได้สัก เพราะกลัวมีผลกระทบกับการทำงานในอนาคต การสักถือเป็นความชอบส่วนบุคคลเราไม่สามารถไปบังคับได้ ส่วนตัวมองว่ามาตรการในการตัดสินแบบนี้รู้สึกไม่เห็นด้วย เพราะก็มีคนไม่สักหลายคนก็เป็นคนเกเร และส่วนใหญ่เพื่อนก็จะสักกันแต่ก็ไม่เคยทะเลาะวิวาทกับใคร

กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl



ข่าวที่เกี่ยวข้อง