ที่มาของกระแสคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

การเมือง
8 ส.ค. 58
15:34
103
Logo Thai PBS
ที่มาของกระแสคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสข่าวเรื่องการ "คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ" กลายเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนทางการเมือง เพราะมีข้อสังเกตว่าจะมีผลต่ออายุการทำงานให้กับรัฐบาล-คสช. เนื่องจากบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระแส ต่างมีความเชื่อมโยงถึงกัน และต่างก็มีเจตนารมณ์ทางการเมืองในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะเงื่อนไขเสนอว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

"ปฏิรูป..ก่อนเลือกตั้ง" เงื่อนไขที่ถูกเสนอออกมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธและถูกเลี่ยงที่จะตอบรับข้อเสนอนี้โดยตรง หากแต่แรงขับเคลื่อนต่อข้อเสนอในแต่ละครั้ง ยังตั้งข้อสังเกตได้ว่าแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ และน่าจะต่างกับครั้งนี้ที่ตกเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของกระแสข่าว "การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ"
 
โดยสมาชิก สปช.อย่างนายสิระ เจนจาคะ ซึ่งอดีต เป็นศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่พุทธะอิสระ พระสงฆ์ผู้เป็นแกนนำมวลชนกลุ่ม กปปส. ออกมาย้ำแล้วย้ำอีกว่าเป็นเรื่องจริง มีกระบวนการรวบรวมรายชื่อสมาชิก สปช. เพื่อลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แลกกับการรับตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลที่อ้างอิงว่า มีสมาชิก สปช.นับร้อยคนร่วมลงชื่อแล้ว และข้อสังเกตที่ได้จากปฏิกริยาที่ว่านี้ คือแนวโน้มของการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
 
และแม้ข้อเสนอจะต่างกันอยู่บ้าง แต่น่าจะมีเป้าหมายเหมือนกันกับการเดินหน้าผลักดันแนวทางในอุดมการณ์ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. ซึ่งอดีต คือ ส.ว.กลุ่ม 40 กลุ่มที่สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เพื่อคัดค้านแนวทางการบริหารของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยื่นข้อเสนอที่ว่าด้วยการปฏิรูป..ก่อนเลือกตั้ง พร้อมกับการเสนอเป็นญัตติให้ สปช.เลือกเป็นหนึ่งในคำถามต่อการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
ผลในทางปฏิบัติย่อมหมายถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านหรือไม่ผ่านการทำประชามติ หากคำถามเป็นที่เห็นด้วย ก็ต้องใช้เวลากับการปฏิรูปประเทศอีก และสุดท้ายผลลัพธ์ยังคงเป็นเช่นเดิม หากแรงโน้มน้าวการตัดสินใจของอดีต ส.ว.กลุ่ม 40 คนนี้ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช.มีผลต่อการตัดสินใจใช้เอกสิทธิ์ของสมาชิก สปช.อีก 248 คน ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นทาง ก่อนจะเสียงบประมาณอีก 4,000 ล้านบาทในการจัดทำประชามติ
 
ประมวลรวมสถานการณ์แล้ว 7 ก.ย.2558 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยง และไม่น่าจะมีเหตุมาจากเนื้อหาสาระสำคัญของร่างฯทั้งหมด แต่น่าจะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย ทั้งบริบทของบุคคลภายใน สปช. และบุคคลภายนอกที่ยึดโยงอยู่กับการปฏิรูป..ก่อนการเลือกตั้ง รวมไปถึงแนวทางของมูลนิธิ กปปส.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง