กมธ.ยกร่างฯ สรุปแก้ไขมาตรา 190 ให้ตรวจสอบการใช้เงินขององค์กรที่จัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ

การเมือง
10 ส.ค. 58
16:12
104
Logo Thai PBS
กมธ.ยกร่างฯ สรุปแก้ไขมาตรา 190 ให้ตรวจสอบการใช้เงินขององค์กรที่จัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ

วันนี้ (10 ส.ค.2558) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประชุมพิจารณาข้อบัญญัติที่ค้างไว้รวม 3 ประเด็น แต่ได้ข้อสรุปเพียงประเด็นเดียว คือ มาตรา 190 ที่ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีอากรเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน ส่วนเรื่องที่มา ส.ว.และเรื่องโครงสร้างและคณะกรรมการที่ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองจะมีการประชุมและหารือต่อในวันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.2558)

ในการประชุมวันนี้ กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ข้อสรุปว่าในมาตรา 190 ของร่างรัฐธรรมนูญจะเพิ่มความในวรรคท้ายว่า "องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐที่จัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะต้องมีคณะกรรมการประเมินผลซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามและบริหารการเงิน รวมถึงให้จัดทำรายงานการจัดสรรงบประมาณ การเบิกจ่ายและเงินเหลือจ่ายเสนอต่อ ครม.สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา" และเห็นควรตัดวงเล็บ 1 ในมาตรา 281 ว่าด้วยการชะลอการบังคับตามรัฐธรรมนูญไปอีก 4 ปีทิ้ง

ขณะที่พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า รัฐบาลมีเจตนาที่จะให้การใช้จ่ายภาครัฐได้รับการตรวจสอบเพื่อผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส ไม่มีแนวความคิดจะยกเลิกการเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะและย้ำว่าหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มบุคคล ไม่ควรเคลื่อนไหวเกินเลยกว่าสถานการณ์และข้อเท็จจริง

สำหรับกระแสข่าวเรื่องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.พร้อมด้วยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญระบุก่อนหน้านี้ว่าไม่เชื่อกระแสข่าวนี้และเห็นว่าเป็นเพียงข่าวลือ โดยนายเทียนฉายมั่นใจว่าสมาชิก สปช.มีเอกสิทธิ์และความอิสระในการตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตัวเอง

ขณะที่นายบวรศักดิ์กล่าวว่าความพร้อมยอมรับมติของ สปช.ทุกประการ แต่ทั้งนายเทียนฉายและนายบวรศักดิ์ต่างปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอให้สมาชิก สปช. เขียนคำวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงมติทางใดทางหนึ่งและย้ำว่าการลงมติโดยเปิดเผยถือเป็นข้อกฎหมายและประเพณีปฏิบัติโดยชอบแล้ว

ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ว่า ฝ่ายที่น่าจะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญคาดว่ามี 2 กลุ่มรวมแล้วประมาณกว่า 40 คน ได้แก่ กลุ่มที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คนซึ่งมาจาก สปช. และอีกกลุ่มหนึ่งคือ สปช.ที่อยากจะให้ปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้งอีก 22 คน ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการให้รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนแล้วจึงจะไปเติมคำถามเรื่องปฏิรูปในการทำประชามติ

แต่กลุ่มใหญ่อีก 200 ยังมีทั้งกลุ่มที่ประกาศชัดเจนว่าจะลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ บางกลุ่มที่ใกล้ชิดฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้เลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว และกลุ่มที่ใกล้ชิด คสช.เพราะประเมินแล้วว่า การต่ออายุให้คสช. อาจจะเป็นผลเสียมากกว่า นอกจานี้ยังอาจจะมีกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจอยู่ด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง